วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คำแนะนำและสิ่งที่ควรรู้ในการฉีดวัคซีน



BABY TATA

1 หลังการฉีดวัคซีน เด็กอาจมีไข้ได้ 1 - 2 วัน ให้ดูแลโดยยาลดไข้ และเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูงร่วม ด้วย ถ้ามีปฏิกิริยาจากวัคซีนมาก เช่น มีไข้ ชัก ควรรีบพาไปพบแพทย์ และควรแจ้งให้แพทย์ ทราบเพื่อเป็นข้อมูลในการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป

2 ถ้ามีไข้ในวันนัด ควรเลี่ยงการฉีดวัคซีนไปจนกว่าไข้จะหายดี ส่วนอาการของการเจ็บป่วย เช่น หวัด หรือไอเล็กน้อย โดยทั่วไปฉีดวัคซีนได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

3 วัคซีนหลายชนิดสามารถให้ในวันเดียวกันได้ ปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับวัคซีนแต่ ละชนิด และเด็กแต่ละรายไม่เหมือนกัน

4 เด็กมีประวัติแพ้ไข่ หรือ Neomycin ชนิดรุนแรง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อเลือกฉีกวัคซีน อย่างระมัดระวัง

5 เด็กที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ หรือได้รับการรักษาด้วยยาบางอย่าง ต้องแจ้งให้ แพทย์ทราบเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนที่อาจเป็นอันตรายได้

6 ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปีแรก จะฉีดวัคซีนบริเวณต้นขา ซึ่งง่ายและปลอดภัยกว่าบริเวณอื่นๆ

7 ผลการป้องกันวัคซีนที่ฉีดครบกำหนดบางตัว อาจป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

8 บางครั้งอาจมีก้อนเป็นไต บริเวณหลังฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เจ็บ และจะหายไปเองใน 2-3 เดือน เป็นผลของส่วนผสมในวัคซีนร่วมกับการฉีดไม่ลึกพอ เกิดในเด็กบางคน
toyota,citibank,visa,mastercard,AMEX,DINER,JCB

การอาบน้ำลูกน้อย



โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรทิพย์ อาปณกะพันธ์
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล

การทำความสะอาดร่างกายลูกน้อยวัยแรกเกิด

การดูแลทำความสะอาดร่างกายถือเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ สำหรับลูกตัวเล็กๆ โดย เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยแรกเกิด คือในช่วงเดือนแรกหลังเกิด คุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้มีบทบาท สำคัญในการดูแลทำความสะอาดร่างกายให้ลูก การทำความสะอาดร่างกายอย่างถูกต้องนอกจาก จะทำให้ลูกสุขสบายแล้ว ยังอาจป้องกันโรคบางโรค เช่น โรคติดเชื้อและโรคหวัด เป็นต้น

การทำความสะอาดร่างกายให้ลูกในช่วงแรกเกิดมี 2 วิธี คือ การเช็ดตัวและการอาบน้ำ ในกรณี ที่สายสะดือของลูกยังไม่หลุด ควรทำความสะอาดด้วยการเช็ดตัวให้วันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น ทั้งนี้ เพราะหากอาบน้ำ จะทำให้สะดือแฉะ เป็นหนทางนำเชื้อโรคเข้าสู่ลูกได้ เมื่อลูกอายุ ประมาณ 7 - 10 วัน สายสะดือจะแห้งและหลุดไปเอง ซึ่งเมื่อสายสะดือหลุดและสะดือแห้งดีแล้ว การทำความสะอาดร่างกายควรเปลี่ยนมาเป็นการอาบน้ำจะดีกว่า เพราะจะทำให้ทำความสะอาด ได้ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ชอบวิธีการอาบน้ำมากกว่า ก็สามารถอาบน้ำให้ ลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ต้องให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดสะดือหลังอาบน้ำเป็นอย่างดี

สำหรับการสระผม ไม่ว่าจะทำความสะอาดร่างกายด้วยวิธีการเช็ดตัวหรืออาบน้ำ ควรสระผม ด้วยทุกวัน วันละครั้ง แต่ถ้าอากาศหนาวเย็น หรือลูกมีอาการเป็นหวัดก็ควรเว้นระยะการสระผม อาจสระเพียงวันเว้นวันก็พอ

สิ่งที่ควรคำนึงถึง เมื่อทำความสะอาดร่างกายให้ลูก

1 เตรียมอุปกรณ์ของใช้ให้พร้อม
2 เลือกสถานที่อาบน้ำให้เหมาะสม
3 ทำความสะอาดร่างกายลูกให้ถูกวิธี

การเตรียมอุปกรณ์ ของใช้ให้พร้อม
อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการอาบน้ำลูก เป็นสิ่งจำเป็นต้องเตรียมไว้ และแยกไว้ใช้กับลูกโดย เฉพาะ เช่น อ่างอาบน้ำ ควรเอาไว้ใช้เฉพาะอาบน้ำลูกเท่านั้น ของใช้สำหรับอาบน้ำไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู แป้ง ควรเลือกชนิดที่ผลิตสำหรับเด็ก เพราะผิวของลูกอ่อนบาง เกิดการระคายเคือง ได้ง่าย ของใช้อื่นๆ ได้แก่ เครื่องใช้ประเภทผ้า ได้แก่ ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ใช้ห่อตัวและเช็ดตัว ให้แห้งเมื่อลูกอาบน้ำเสร็จ ผ้าขนหนูผืนเล็กๆ สำหรับชุบน้ำเช็ดตัวลูก เสื้อผ้า ผ้าอ้อม เครื่องใช้ เหล่านี้ต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ

การเลือกสถานที่อาบน้ำให้เหมาะสม


สถานที่อาบน้ำ ควรจัดไว้มุมใดมุมหนึ่งของห้อง อาจอยู่ใกล้ห้องน้ำหรือเป็นบริเวณที่มีก๊อกน้ำ ที่ คุณพ่อคุณแม่จะเปลี่ยนน้ำสำหรับทำความสะอาดลูกได้ โดยไม่ต้องทิ้งลูกไปไกลนัก บริเวณ สำหรับอาบน้ำควรมีพื้นที่พอสมควรที่จะวางของใช้ได้โดยไม่เกะกะ มีที่นอนหรือเบาะเล็กๆ ที่กั้น น้ำได้ สำหรับรองตัวลูกเวลาเช็ดตัว เป็นที่ที่อากาศโปร่งสบาย แต่ลมพัดไม่โกรกมากนัก เพราะ หากเป็นที่ที่ลมพัดมากอาจทำให้ลูกหนาว และเป็นหวัดได้ง่าย

การทำความสะอาดร่างกายลูกให้ถูกวิธี

การเตรียมน้ำ
น้ำที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายลูก ควรเป็นน้ำสะอาด ที่มีอุณหภูมิพอเหมาะไม่เย็นเกินไป และ หากอากาศเย็น ควรผสมน้ำอุ่นอาบให้ลูก

การเตรียมตัวลูก
ถอดเสื้อผ้าลูกออก ห่อตัวลูกด้วยผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกอบอุ่นแล้ว ยังเป็น การป้องกันลูกไม่ให้ดิ้นขณะทำความสะอาดร่างกายอีกด้วย

การทำความสะอาดร่างกายลูก
จะเริ่มทำความสะอาดใบหน้าและศีรษะ โดยการเช็ดหน้าและสระผมก่อน

1 ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดหน้าลูกให้สะอาด

2 อุ้มลูกไว้โดยใช้มือรองบริเวณต้นคอของลูก ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางของคุณแม่พับใบหูลูก ไว้ เพื่อกันน้ำเข้าหู แต่หากไม่ถนัดอาจเอาสำลีอุดหูลูกไว้ก็ได้ แขนของคุณแม่อุ้มแนบลำตัวลูก กระชับไว้อย่างมั่นคง ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดน้ำลงบนผมลูกให้เปียกทั่วศีรษะ สระผมด้วยแชมพู 1 ครั้ง โดยใช้ปลายนิ้วคุณแม่นวดหนังศีรษะให้ทั่ว ไม่ต้องเกา เพราะการเกาจะทำให้เกิดแผล ได้ ล้างแชมพูออกด้วยน้ำสะอาด เมื่อสระผมเสร็จเช็ดผมให้แห้งทันที เพราะหากปล่อยให้ผม เปียกอยู่นานจะทำให้ลุกเป็นหวัดได้

3 การทำความสะอาดร่างกายลูก ให้ลูกนอนบนเบาะ หรือที่นอนเล็กที่ เตรียมไว้ คลี่ผ้าเช็ดตัวที่ห่อลูกออก

หากเป็นการเช็ดตัว ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำเช็ดตัวลูกให้ทั่ว ฟอกสบู่ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด คราบสบู่ออกจนร่างกายสะอาด

ถ้าจะอาบน้ำให้ลูก ใช้วิธีการเดียวกัน แต่เมื่อฟอกสบู่ให้ลูกแล้วอุ้มลูกลงแช่น้ำสะอาดในอ่าง เพื่อล้างฟองสบู่ออกแทนการใช้ผ้าเช็ด ในกรณีคุณแม่มือใหม่ที่อุ้มลูกยังไม่ถนัดนัก ควรใช้ผ้า ชุบน้ำเช็ดคราบสบู่ออกเสียครั้งหนึ่งก่อน จึงอุ้มลูกลงอ่าง จะปลอดภัยกว่า เมื่ออาบน้ำลูกสะอาด แล้ว ใช้ผ้าเช็ดตัวเช็ดตัวให้ลูกทันที และห่อตัวลูกให้แน่น

4 หลังการทำความสะอาดร่างกาย หากสายสะดือยังไม่หลุด ต้องเช็ดทำความสะอาดโดยจับสาย สะดือ ยกให้สูงขึ้น แล้วใช้ไม้พันสำลีสะอาดชุบแอลกอฮอล์ 70% สอดเข้าไปเช็ดใต้สายสะดือให้ สะอาด แล้วจึงเช็ดที่สายสะดือและบริเวณรอบๆ สะดือให้สะอาดอีกครั้ง ถ้าสายสะดือหลุดแล้ว แต่ สะดือยังไม่แห้งสนิท ควรทำความสะอาดต่อไปก่อนจนกว่าจะแห้งสนิท จึงเลิกเช็ดได้

5 ก่อนแต่งตัวให้ลูก ถ้าต้องการใช้แป้งทาตัวควรระวังอย่าเทแป้งให้ฟุ้งกระจาย เพราะลูกอาจสูด ฝุ่นแป้งเข้าไปทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ควรโรยแป้งลงบนมือคุณแม่ แล้วถูแป้งบนมือก่อน จึงทาตัวลูก และไม่ควรทาแป้งหนาเกินไป เพราะแป้งจะไปอุดรูขุมขนทำให้เหงื่อระเหยออกไม่ ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นคันได้

6 แต่งตัวให้ลูกด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับอากาศ

ในระหว่างการทำความสะอาดร่างกาย ไม่ว่าจะด้วยการเช็ดตัวหรืออาบน้ำก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ ควรสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ของลูก เช่น ตา หู ปาก ผิวหนัง และอื่นๆ ทั้งนี้เพราะ หากพบสิ่งผิดสังเกต ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติ จะได้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที

การอาบน้ำให้ลูก ไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกสบายกายเท่านั้น แต่การอาบน้ำที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ ลูกด้วยความตั้งใจ ความเต็มใจ ความเอาใจใส่ และด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จะทำให้ลูกรับรู้ได้ถึง ความรัก ความอบอุ่น ปลอดภัย มีความสุข และก่อให้เกิดสัมพันธภาพ ลูกจะค่อยๆ รู้จักรักตอบ คุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งเป็นรากฐานในการเผื่อแผ่ความรักไปสู่บุคคลอื่นๆ ได้ในที่สุด
WATER BOY KODS MOM CHILD AVENT JOHNSON&JOHNSON BABYMILD

เด็กออทิสติกคือใคร

คำภาษาต่างประเทศคำนี้ สำหรับบุคคลทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย แต่สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิบิดามารดา ผู้ปกครอง ครู นักการศึกษาและนักวิชาชีพ คงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนและลึกซึ้งเพื่อที่จะได้รู้จัก เข้าใจ ธรรมชาติ ลักษณะ บุคลิก จุดเด่น จุดอ่อน และพฤคิกรรมของเด็ก อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือในแนวทางที่ถูกต้อง

คำว่า ออทิสติก หรือ ออทิสซึม (Autism) เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรม หรืออาการที่เกิดขึ้น มาจากภาษากรีก มีรากศัพท์มาจากคำว่า Auto หรือ Self แปลว่า ตัวเอง ทางการแพทย์ถือว่า ออทิซึม เป็นภาวะความผิด ปกติทางพัฒนาการอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งด้านภาษา การสื่อสาร การมีปฏิ สัมพันธ์ทางสังคม และพฤติกรรม โดยจะปรากฏให้เห็นได้ในระยะ 3 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติทางหน้าที่ของระบบประสาทบางส่วน

ดังนั้น ศ.พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงนิยามว่า เด็กออทิสติก คือเด็กที่มีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษา และการสื่อความหมาย พฤติกรรมอารมณ์ และจินตนาการ ซึ่งมีสาเหตุเนื่องมาจากการทำงานในหน้าที่บางส่วนของสมองผิดปกติไป และความผิดปกตินี้จะพบได้ก่อนวัย 30 เดือน

ในทางการศึกษาพิเศษ เด็กออทิสติก จัดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษกลุ่มหนึ่ง กระบวนการในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้กระบวนการหนึ่ง คือ การศึกษา ซึ่งหมายรวมถึง ตั้งแต่การช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม การเตรียมความพร้อม การจัดการศึกษาพิเศษ การเรียนร่วม จนถึงการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ

back



ลักษณะอาการ

The Diagnosis and Statistical Manual, 4th Edition 1994 (DSM IV) ได้อธิบายลักษณะอาการไว้พอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้


ความบกพร่องทางปฏิสัมพันธ์สังคม

เด็กมีความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่มองสบตา ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า กิริยาท่าทาง จึงไม่มีความสามารถที่จะผูกสัมพันธ์กับใคร เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ไม่สนใจที่จะทำงานร่วมกับใคร มักจะอยู่ในโลกของตัวเอง


ความบกพร่องทางการสื่อสาร


เป็นความบกพร่องทั้งด้านการใช้ภาษา ความเข้าใจภาษา การสื่อสาร และสื่อความหมาย ด้านการใช้ภาษา เด็กจะมีความล่าช้าทางภาษาและการพูดในหลายระดับ ตั้งแต่ไม่สามารถพูดสื่อความหมายได้เลย หรือบางคนพูดได้ แต่ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจและเหมาะสม บางคนจะมีลักษณะการพูดแบบเสียงสะท้อน หรือการพูดเลียนแบบ ทวนคำพูด หรือบางคนพูดซ้ำแต่ในเรื่องที่ตนเองสนใจ การใช้ภาษาพูดมักจะสลับสรรพนาม ระดับเสียงที่พูด อาจจะมีความผิดปกติ บางคนพูดเสียงในระดับเดียว


ลักษณะทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่บกพร่อง


เด็กออทิสติกจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ เช่น เล่นมือ โบกมือไปมา หรือหมุนตัวไปรอบๆ ยึดติดไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน มีความสนใจแคบ มีความหมกมุ่นติดสิ่งของบางอย่าง เด็กบางคนแสดงออกทางอารมณ์ไม่เหมาะสมกับวัย บางครั้งร้องไห้ หรือหัวเราะโดยไม่มีเหตุผล บางคนมีปัญหาด้านการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยจะอาละวาด หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ร้องไห้ ดิ้น กรีดร้อง

ความบกพร่องด้านการเลียนแบบและจินตนาการ

บางคนมีความบกพร่องด้านการเลียนแบบ เด็กบางคนต้องมีการกระตุ้นอย่างมาก จึงจะเล่นเลียนแบบได้ เช่น เลียนแบบการเคลื่อนไหว การพูด บางคนไม่สามารถเลียนแบบได้เลยแม้แต่การกระทำง่ายๆ จากากรขาดทักษะการเลียนแบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเล่น ทำให้เด็กขาดทักษะการเล่น
ในด้านจินตนาการ ไม่สามารถแยกเรื่องจริง และเรื่องสมมุติ ประยุกต์วิธีการจากเหตุการณ์หนึ่งไปอีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ยาก เล่นสมมุติไม่เป็น จัดระบบความคิด ลำดับความสำคัญก่อนหลัง การวางแผน การคิดจินตนาการจากภาษาได้ยาก ซึ่งส่งผลต่อการเรียน


ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ทางประสาทสัมผัส

การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การรับรู้ทางสายตา การตอบสนองต่อการฟัง การสัมผัส การรับกลิ่นและรส มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางคนชอบมองวัตถุหรือแสงมากกว่ามองเพื่อน ไม่มองจ้องตาคนอื่น บางคนเอาของมาส่องดูใกล้ๆ ตา บางคนตอบสนองต่อเสียงผิดปกติ เช่น ไม่หันตามเสียงเรียกทั้งที่ได้ยิน บางคนรับเสียงบางเสียงไม่ได้ จะปิดหู ด้านการสัมผัส กลิ่นและรส บางคนมีการตอบสนองที่ไว หรือช้ากว่า หรือแปลกกว่าปกติ เช่น ดมของเล่น หรือเล่นแบบแปลกๆ


ความบกพร่องด้านการใช้อวัยวะต่างๆ อย่างประสานสัมพันธ์


การใช้ส่วนต่างๆ ของร่ากาย รวมถึงการประสานสัมพันธ์ของกลไก กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กมีความบกพร่อง บางคนมีการเคลื่อนไหวที่งุ่มง่ามผิดปกติ ไม่คล่องแคล่ว ท่าทางการเดิน หรือการวิ่งดูแปลก การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การหยิบจับ เช่นช้อนส้อม ไม่ประสานกัน


ลักษณะอื่นๆ

เด็กออทิสติกบางคนจะมีลักษณะพฤติกรรมอยู่ไม่สุขตลอดเวลา ในขณะที่บางคนมีลักษณะเชื่องช้า งุ่มง่าม บางคนแทบไม่มีความรู้สึกตอบสนองต่อความเจ็บปวด เช่น ดึงผม หรือหักเล็กตนเองโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด


อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการข้างต้น เป็นภาพรวมของเด็กออทิสติก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กออทิสติกทุกคนต้องมีลักษณะทั้งหมดนี้ เด็กบางคนอาจมีเพียงบางลักษณะ และระดับความมากน้อยก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

อีกประการหนึ่ง ในเด็กบางคนจะมีลักษณะพิเศษ กิจกรรมบางอย่างทำได้ดีมาก เช่น สามารถบวกเลขในใจจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว บางคนมีทักษะทางเครื่องยนต์กลไก หรือบางคนสามารถเปิดปิดเครื่องเล่นวิดีโอเทปได้ก่อนที่จะพูดได้เสียอีก ทั้งนี้ถือเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล

back

สภาพที่เป็นข้อจำกัดต่อการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก


ข้อจำกัดของเด็กออทิสติกที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ มีหลายประการ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้


ข้อจำกัดด้านภาษาและการสื่อความหมาย
ภาษาประกอบด้วย ความเข้าใจและการพูด การสื่อความหมาย ได้แก่ การแสดงออกด้วยกิริยาท่าทาง เพื่อส่งสารให้ผู้อื่นเข้าใจเจตนาของตน ข้อจำกัดด้านนี้จึงส่งผลที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก


ข้อจำกัดด้านสังคมและอารมณ์
อาทิการปรับตัวเข้ากับกลุ่ม การมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม การควบคุมอารมณ์มารอยู่ร่วม หรือทำกิจกรรมกับกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก


ข้อจำกัดด้านพฤติกรรมและพฤติกรรมซ้ำ
เด็กออทิสติกบางคน มีปัญหาพฤติกรรม เช่น ความสนใจสั้น หรือที่เรียกว่า สมาธิสั้น หรือบางคนมีพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นพฤติกรรมการกระตุ้นตนเอง เช่น เล่นนิ้วมือตลอดเวลา ส่งเสียงอยู่ในลำคอตลอดเวลา ทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้จำกัด


ข้อจำกัดด้านการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส
การตอบสนองหรือการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการรับรู้และเรียนรู้ของเด็ก เช่น การแยกความเหมือนหรือความแตกต่างด้วยสายตา ย่อมส่งผลกระทบต่อการอ่าน


ข้อจำกัดด้านการคิดอย่างมีจินตนาการ

จินตนาการ เป็นการคิดต่อยอดและขยายผล หากเด็กมีข้อจำกัดด้านนี้ การเรียนรู้ย่อมเป็นไปได้ไม่เต็มที่


ข้อจำกัดด้านการเรียนรู้
ในเด็กออทิสติกบางคน ระดับความสามารถในการเรียนรู้ เช่น ทักษะการสังเกต การจับคู่ การจัดลำดับ และอื่นๆ มีความจำกัด ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้เชิงวิชาการ


ข้อจำกัดด้านพัฒนาการทางกายบางด้าน
การไม่ประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมือและตา ความไม่คล่องแคล่วของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหวทางร่างกายที่ดูไม่สมดุล เช่น งุ่มง่าม ทำให้เด็กขาดทักษะการเคลื่อนไหว ทำให้การเรียนรู้บางด้านที่ต้องใช้ทักษะด้านนี้มีความจำกัด เช่น งานการประดิษฐ์ที่มีความละเอียด




back

สาเหตุการเกิด

นปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิดภาวะออทิซึม แต่มีข้อสันนิษฐานว่า มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ การทำงานในหน้าที่ต่างๆ ของสมองไม่สมบูรณ์แบบหลายประการ เช่น ทางชีววิทยา ปัจจัยด้านความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ความผิดปกติของสมองด้านการทำงาน การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ หรือขณะคลอด (ดังแผนภูมิด้านบน)

back



อัตราการเกิด



หากถือการวินิจฉัยตามเกณฑ์ข้อบ่งชี้พฤติกรรมผิดปกติของษมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ครั้งที่ 3 และ 4 (DSM III, IV) จะพบในสัดส่วนประมาณ 4 หรือ 5 คน ในเด็ก 10,000 คน

หากการวินิจฉัยใช้เกณฑ์ "ภาวะออทิสติก สเปคตรัม" หรือรวมกลุ่มแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม จะพบในสัดส่วน 21 ถึง 36 คน ในเด็ก 10,000 คน โดยลักษณะอาการเช่นนี้ ต้องพบก่อนเด็กอายุ 3 ปี และสามารเกิดในเด็กทุกเชื้อชาติ สัญชาติ ฐานะ เพศ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง กล่าวคือในเด็กที่มีอาการออทิสซึ่ม 5 คน จะพบว่าเป็นเด็กผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 1 คน

back



ระดับอาการออทิสติก


ระดับอาการของบุคคลออทิสติก อาจจำแนกระดับอาการกว้างๆ ได้ 3 ระดับ ดังนี้

ระดับกลุ่มที่มีอาการน้อย

เรียกว่า กลุ่ม Mild autism หรือบางครั้งเรียก กลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (high-functioning autism) ซึ่งจะมีระดับสติปัญญาปกติ หรือสูงกว่าปกติ มีพัฒนาการทางภาษาดีกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังมีความบกพร่องในทักษะด้านสังคม การรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลอื่น ในปัจจุบันมีผู้เรียกเด็กกลุ่มนี้อีกชื่อหนึ่งว่า แอสเพอร์เกอร์ - Asperger Syndrome ตามชื่อแพทย์ผู้ค้นพบ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นทางวิชาการ ในการแจวรายละเอียดของปัญหาเพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่ชัดเจนขึ้น แต่โดยสภาพพื้นฐานความต้องการจำเป็นทั้งกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง กับกลุ่ม แอสเพอร์เกอร์ ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก


ระดับกลุ่มที่มีอาการปานกลาง
เรียกว่า กลุ่ม Moderate autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในพัฒนาการด้านภาษาการสื่อสาร ทักษะสังคม การเรียนรู้ รวมทั้งด้านการช่วยเหลือตนเอง และมีปัญหาพฤติกรรมกระตุ้นตนเองพอสมควร


ระดับกลุ่มที่มีอาการรุนแรง
เรียกว่ากลุ่ม Severe autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในพัฒนาการเกือบทุกด้าน และอาจเกิดร่วมกับภาวะอื่น เช่น ปัญญาอ่อนรวมทั้งมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง




back

วิธีสังเกตเด็กออทิสติก


การสังเกตว่าเด็กคนใด มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่า เป็นเด็กที่มีภาวะออทิสติกหรือไม่ เครื่องมือใช้ตรวจสอบ คือ แบบสังเกตพฤติกรรม

เมื่อผู้ปกครอง พาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะดำเนินกระบวนตามสภาพความต้องการของเด็กแต่ละคน ซึ่งพอประมวลสรุปขั้นตอนได้ ดังนี้

แพทย์ซักถาม สัมภาษณ์ บิดามารดา หรือผู้ดูแล ถึงพฤติกรรมต่างๆ
ส่งตรวจสอบการได้ยิน เพื่อทดสอบระบบการได้ยิน
ส่งตรวจสอบทางการแพทย์อื่น ตามความจำเป็นและเหมาะสม
วินิจฉัยเพื่อการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือ
ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู รวมทั้งกำหนดโปรแกรม
ให้ยา ตามความจำเป็นของพฤติกรรม


ในฐานะของครูหรือบิดามารดา ผู้ปกครอง อาจตรวจสอบพฤติกรรมเบื้องต้นของเด็กในความดูแลด้วยตนเองได้ และนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกตไปขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษาเพิ่มเติม

บทความนี้นำเสนอแบบตรวจสอบง่ายๆ ในลักษณะการตรวจรายการพฤติกรรม ซึ่งพัฒนาจากแบบสังเกตของ

1 Dr. Je. Gillaim "Autism Rating Scale" 1989
2 Dr. Rendle Shot Bisbane Children's Hospital, University of Queensland, Australia, 1997

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่า การวินิจฉัยภาวะออทิซึม จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัย

แบบตรวจสอบที่นำเสนอ เพื่อช่วยให้ครูหรือบิดามารดา สามารถสังเกตพฤติกรรมที่น่าสงสัยของเด็กเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือระยะเริ่มแรกได้ โดยเครื่องมือนี้เน้นการสังเกตพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง

back



แบบตรวจสอบพฤติกรรมเด็กออทิสติก
คำชี้แจง



สังเกตพฤติกรรมแล้วบันทึกลงในช่องที่พบ โยพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ โดยใส่เครื่องหมาย a(ถูก) เมื่อพบ และใส่เครื่องหมาย X (ผิด)เมื่อไม่พบ
การรวมคะแนน หากคะแนนที่พบเกิน 12 คะแนน มีแนวโน้มน่าสงสัย
แบบตรวจสอบพฤติกรรมนี้ ใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือระยะเริ่มแรกเท่านั้น ไม่ใช่การวินิจฉัย


ชื่อผู้รับการสังเกต …………………………………………….

ชื่อผู้สังเกต …………………………………………………

วันที่สังเกต ………………………………………………..

รายการ


ก. พฤติกรรมทางสังคม


ไม่มองสบตา
ไม่ชอบการโอบกอด
ไม่เลียนแบบการเล่นของเด็กอื่น
มองผ่านหรือมองคนอื่นเหมือนไม่รับรู้ว่ามีคนอยู่ตรงนั้น
แยกตัวออกจากกลุ่ม
ยึดมั่นเรื่องที่สนใจเรื่องเดียว
รู้สึกวิตกกังวลเมื่อเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ
เรียงลำดับวัตถุในแบบเดิมๆ หากมีการเคลื่อนย้ายจะไม่พอใจ
หัวเราะหรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
ซนผิดปกติหรือนั่งนิ่งผิดปกติ
ชอบเล่นหมุนวัตถุ ปั่นวัตถุ

ข. การสื่อความหมาย


ไม่สามารถพูดออกเสียงเป็นคำที่มีความหมาย
ใช้ท่าทางแทนที่จะใช้คำพูดเมื่อต้องการสิ่งใด
พูดเลียนเสียงผู้พูด ทวนคำหรือวลี
พูดคำซ้ำต่างๆ จากหนังสือหือสิ่งที่เคยได้ยินมา เช่นพูดตามโฆษณาทีวี ไม่
ไม่สามารถเริ่มต้นบทสนทนากับเพื่อหรือผู้ใหญ่ได้
ไม่ตอบสนองเสียงเรียก ทำคล้ายไม่ได้ยิน

ค. พฤติกรรมการกระตุ้นตนเอง


มีพฤติกรรมซ้ำๆ
สะบัดนิ้วมือหรือเล่นมือประจำ
จ้องมองมือหรือวัตถุสิ่งของที่อยู่รอบตัวครั้งละ 5 วินาที หรือนานกว่านั้น
หมุนตัว นั่ง หรือโยกตัวไปมาเป็นวงกลม
นั่งหรือยืนโยกหน้า โยกหลัง
เดินเขย่งปลายเท้า
วิ่งถลาหรือพุ่งตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง


รวมคะแนน ข้อที่พบ …………… คะแนน

รวมคะแนน ข้อที่ไม่พบ ………… คะแนน

แนวทางช่วยเหลือ / การให้คำปรึกษา

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………


ลงชื่อ ………………………ผู้บันทึกข้อมูล

(วันที่ที่บันทึก…………)

พบ ไม่พบ

หมายเหตุ พัฒนาจากแบบสังเกตของ

1 Dr. Je. Gillaim "Autism Rating Scale" 1989
2 Dr. Rendle Shot Bisbane Children's Hospital, University of Queensland, Australia, 1997

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ 2542

back

ที่มาข้อมูล: ตัดทอนบางส่วนจาก "การเรียนรู้ของเด็กออทิสติก" โดยชูศักดิ์ จันทยานนท์* เอกสารประชาสัมพันธ์ ลำดับที่ 06/2542 โรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ 140/47 แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพหานคร โทร 0-2411-2899

*นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และผู้อำนวยการโรงเรียนจันทยานนท์

ข้อมูลเพิ่มเติม:
การสมัครสมาชิกสมาคมฯ เขียนชื่อ ที่อยู่ ให้ชัดเจน ส่งมาที่


สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย)
140/47 แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพหานคร 10700
โทร 0-2411-2899 โทรสาร 0-2866-5729

ผู้เชี่ยวชาญ แนะทารกควรออกกำลังกาย



การที่จะให้ทารกน้อยออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่ปล่อยให้ทารกวัย 3 เดือนนอนหงายสักครู่ แล้วดูทารกน้อยพยายามที่จะผงกหัวตัวเองขึ้นมา หรือจับมือลูกตบเบาะเบาๆ หรือหาสถานที่ที่มี เฟอร์นิเจอร์แข็งแรงให้ลูกเกาะยืน ไต่ไปตามเฟอร์นิเจอร์นั้นสักครู่ ในไม่ช้าก็จะช่วยให้ลูกวัยกำลัง คลานเปลี่ยนจากคลานมาเป็นเดินเตาะแตะได้ ทั้งนี้ มีเด็กทารกหลายคนถูกทิ้งให้อยู่ในรถเข็นเด็ก, เพลย์เพน หรือเบาะนั่งสำหรับเด็กนานเกินไป ทำให้ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวไปตาม ที่ต่างๆได้

หน่วยงานชื่อ the National Association for Sport and Physical Activity แห่ง สหรัฐฯ ออกประกาศให้คำแนะนำแก่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง, ศูนย์รับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศว่า เด็กวัยทารก, วัยกำลังคลาน และเด็กวัยก่อนและวัยเข้าอนุบาลควรได้รับการออกกำลังกายอย่างง่ายๆ ทุกวัน เหมือนเป็นการสะสมพัฒนาการให้ค่อยเป็นค่อยไป เช่น หัดเดิน หัดวิ่งและหัดทำกิจกรรม อย่างที่ผู้ใหญ่ทำได้ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายรายคิดว่า ทักษะของพัฒนาการเด็กเช่น การกลิ้งตัว, การนั่ง หรือเดินนั้น เมื่อถึงเวลา เด็กก็จะทำได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ว่า พ่อแม่ควรตระเตรียมสภาพแวดล้อม สถานที่ภายในบ้านให้พร้อมสำหรับลูกได้มีโอกาสฝึก ทักษะเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สมองได้สื่อมายังกล้ามเนื้อเพื่อพัฒนาทักษะทางกาย

Jim Pivarnik, Exercise Physiologist of Michigan State University หนึ่งใน ผู้ที่ร่างคำแนะนำนี้ ระบุเพิ่มเติมว่า พ่อแม่บางรายต้องการทำบ้านให้ปลอดภัยสำหรับลูกทุก กระเบียดนิ้ว ซึ่งไม่ผิดประการใด แต่นอกจากทำบ้านให้ปลอดภัยสำหรับลูกแล้ว ต้องปล่อย ให้ลูกได้มีโอกาสคลาน, เกาะเดิน หรือ กลิ้งตัวเล่นตามพื้นบ้างเพื่อให้เด็กได้รู้จักการแสวงหา ค้นคว้า แสดงความสงสัย และอยากผจญภัยด้วยตัวเอง สรุปคือให้ลูกได้เคลื่อนไหวไปมาด้วย ตัวเองภายในบริเวณบ้าน โดยมีพ่อแม่คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ เพื่อความปลอดภัย

ในคำแนะนำนี้ ไม่มีผู้ใดระบุถึงการพาลูกไปเข้าคลาสเบบี้ยิม เพราะการให้เด็กวัยดังกล่าว ออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ง่ายๆ สนุกๆ อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และหวังว่าเด็กเหล่านี้เมื่อ โตขึ้นจะไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเด็กอ้วน ซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ ยกตัวอย่างเช่น เด็ก ทารกที่ถูกจับให้นั่งเก้าอี้เด็กอ่อน นั่งมองตุ๊กตาแขวนตรงหน้าทั้งวัน อาจจะพลิกตัวช้ากว่า ทารกที่ใช้เวลาส่วนใหญ่เหยียดแขน เหยียดขา แกว่งแขนเล่นอยู่บนผ้าห่มปูพื้นบ่อยๆ

สำหรับเด็กวัย 2 ขวบ - โยนรับลูกบอลล์เล่นกับเด็ก จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางกาย ก้าวหน้า พร้อมที่จะก้าวสู่พัฒนาการอีกขั้นได้อย่างรวดเร็ว ลูกบอลล์ที่หามาก็ไม่จำเป็นต้อง ราคาแพง เพียงแค่ลูกบอลล์นิ่มๆ ไม่ไปกระทบกับข้าวของแล้วทำให้แตกหัก อาจใช้ถุงน่อง คุณแม่ที่เลิกใช้แล้ว ซักให้สะอาดนำมาขดผูกให้เป็นก้อนกลมๆ ก็ใช้โยนรับกับลูกได้ หรือ ใช้กระดาษขยำม้วนเป็นก้อนกลมแล้วใช้สก็อตช์เทปพันทับก็ใช้ได้เช่นกัน (ระวังอย่าให้ลูก
แกะสก็อตช์เทปเอาเข้าปากเล่น)

บางครั้งการที่เด็กวัยทารก หรือวัยก่อนอนุบาลเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้พี่เลี้ยง เด็ก หรือคุณพ่อคุณแม่คิดว่าเด็กมีกิจกรรม และได้ออกกำลังกายตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ว่า ปัจจุบันทั้งทีวีและวิดีโอเกมเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็กมาก ทำให้เด็กเหล่า นี้นั่งดูอยู่กับที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวเท่าที่ควร และบางครั้งลูกอาจจะนั่งดูทีวีนานกว่าที่พ่อ แม่คิดก็ได้ เพราะไม่ได้จับเวลาไว้ทุกครั้ง นอกจากนั้น กิจกรรมสำหรับเด็กแต่ละวัยก็ แตกต่างกันไปเช่นกันเพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย


ข้อแนะนำในการกระตุ้นให้เด็กทารก
และวัยอนุบาลได้ออกกำลังกาย
1) พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงเด็กควรเปิดโอกาสให้เด็กเคลื่อนไหวไปมา ทำกิจกรรมต่างๆจนเป็น ส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น เล่นจ๊ะเอ๋, จับมือแกว่งไปมาเบาๆ จ้องหน้าพูดคุย กับเด็ก อุ้มพาเดินดูสิ่งต่างๆ ในบ้าน ชมนกชมไม้หน้าบ้าน ให้เด็กได้เห็นวิว หรือสภาพ แวดล้อมแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจ

2) อย่าปล่อยให้เด็กนั่งเก้ารถเข็น เก้าอี้เด็ก หรืออยู่ในที่จำกัดครั้งละนานๆ ถ้าลองสังเกตดู จะเห็นว่า ทารกวัยน้อยๆ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายด้วยท่าทางที่แตกต่างกันเมื่ออยู่บน ผ้าห่มปูพื้น และเมื่ออยู่บนเบาะนั่งสำหรับเด็ก

3) เด็กวัยหัดเดินควรได้เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที และ 1 ชั่วโมงสำหรับเด็กวัยเตรียมอนุบาลในแต่ละวัน โดยกิจกรรมอาจจะเป็น เต้นหรือทำ ท่าทางประกอบการร้องเพลง, วิ่ง ไล่จับลูกบอลล์, โยน รับบอลล์, - สำหรับเด็กโต หรือ เกม / กิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้เด็กมีทักษะการทรงตัว และช่วยให้กล้ามเนื้อพัฒนาขึ้น

4) เด็กวัยหัดเดินและวัยเตรียมอนุบาลควรใช้เวลาวันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในการเล่น อย่างเป็นอิสระ ค้นคว้า, ทดสอบ, ทดลองสิ่งต่างๆ ที่เขาสนใจ หรือเลียนแบบการกระทำ ของพ่อแม่ ผู้ใกล้ชิด ดังนั้น พี่เลี้ยงเด็กหรือพ่อแม่ควรหาวัสดุอุปกรณ์ของเล่นที่เด็ก สามารถขึ้นไปขี่, ผลัก, ดึง, ทรงตัว หรือปีนป่ายได้อย่างปลอดภัย

5) เด็กวัยดังกล่าวไม่ควรถูกจำกัดสถานที่ หรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานเกิน 1 ชั่วโมง ยกเว้นขณะนอนหลับ

การที่เด็กได้ออกกำลังกายนั้น ไม่ควรนำมาใช้เพื่อต้องการทำโทษเด็ก หรือบังคับให้เด็ก ทำโดยฝืนใจ ควรเป็นไปด้วยความสมัครใจและสนุกสนาน ที่สำคัญควรบรรจุกิจกรรม ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายโดยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเด็ก พี่เลี้ยงเด็กและ พ่อแม่ควรร่วมสนุกกับเด็กในการทำกิจกรรมด้วย อย่าเพียงแต่นั่งดูเด็กเล่นอยู่เฉยๆ คนเดียวตามลำพัง

BMW TOYOTA YAMAHA CITIBANK

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เมื่อลูกไม่ดูดนมแม่ (new)



อันนี้สำหรับกรณีของลูกแรกคลอดนะคะ เมื่อลูกไม่ยอมดูดนมจากเต้านั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะท่าทางการดูดไม่ถูกต้อง ทำให้ดูดแล้วไม่ได้น้ำนม เมื่อไม่ได้น้ำนม ลูกก็จะหงุดหงิดและปฏิเสธเต้าแม่ ซึ่งทำให้ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าไม่มีน้ำนม เวลาที่ลูกดูดไม่ถูกต้อง เค้าจะไม่ได้น้ำนมค่ะ ทั้งๆ ที่แม่มีนมอยู่เต็มเต้า แต่ลูกดูดไม่ออก เพราะฉะนั้นต้องแก้ด้วยการดูดให้ถูกวิธี ไม่ใช่แก้ด้วยการเสริมนมขวดนะคะ การสอนให้ลูกดูดนมให้ถูกต้องควรจะเป็นสิ่งที่โรงพยาบาล "ต้อง" ฝึกให้แม่ทุกคนทำได้ก่อนจะให้กลับบ้านเลยนะคะ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีน้อยเหลือเกินที่จะให้ความใส่ใจกันในเรื่องนี้ อย่าบ่นเลยดีกว่า เอาเป็นว่า คุณแม่ท่านใดที่มีปัญหาเรื่องลูกไม่ยอมดูดจากเต้า ก็ลองดูได้นะคะ ว่าลูกเราดูดได้ถูกต้องหรือเปล่า

เนื่องจากไฟล์แต่ละอันขนาดใหญ่มาก หลาย MB ถ้าจะ download ได้ คงต้องเป็น Hi-Speed นะคะ ตาม link ข้างล่างนี้ไปเลยค่ะ เริ่มจาก First Latch ก่อนเลยนะคะ

Dr. Jack's VDO Clips



อย่าลืมอ่านบทความเรื่อง "สัมผัสรักระหว่างแม่ลูก" ประกอบด้วยค่ะ

เพิ่มเติมบทความของ Dr.Jack เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแม่ต่ายกรุณาสละเวลาแปลให้ค่ะ

ทำไมทารกถึงปฏิเสธที่จะดูดนม

มีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้ทารกไม่ยอมดูดนม ส่วนใหญ่แล้วการที่ทารกไม่ยอมดูดนม มักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุมากกว่าหนึ่งอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทารกที่มี พังผืดใต้ลิ้น อาจจะยอมดูดนมแม่แต่โดยดีหากไม่มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากทารกได้รับนมขวดตั้งแต่หลังคลอดใหม่ ๆ นมแม่สำหรับเขาแล้วก็อาจจะกลายสภาพจากอะไรที่ "ดีพอใช้" เป็น "ใช้ไม่ได้เลย" ไปได้

ถ้าหัวนมแม่ใหญ่มาก มีลักษณะบุ๋ม หรือบอด จะทำให้การดูดนมทำได้ยากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย

ทารกบางคนไม่เต็มใจที่จะดูดนม หรือดูดนมได้ไม่ดีเนื่องจากได้รับผลกระทบจากยาที่ได้รับระหว่างการคลอด ในหลายกรณีมีสาเหตุมาจากยาระงับความเจ็บปวด โดยเฉพาะยาแก้ปวด Meperidine (Demerol) ซึ่งจะตกค้างในกระแสเลือดของทารกเป็นเวลานาน และมีผลต่อการดูดนมของทารกอยู่เป็นเวลาหลายวัน แม้แต่มอร์ฟีนที่ให้ในการบล็อคหลังก็อาจมีผลให้ทารกไม่ยอมดูดนมได้ เพราะยาที่ให้ในการบล็อคหลังจะเข้าไปในกระแสเลือดของแม่ และผ่านไปยังทารกก่อนที่จะคลอดออกมา

การใช้เครื่องมือดูดทารกออกมาในการคลอดก็อาจมีผลให้ทารกดูดนมได้ไม่ดี หรือไม่อยากดูดนมได้ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้เครื่องดูดนี้ในกรณีที่ทารกคลอดครบกำหนดและแข็งแรงดี

ความผิดปกติของปากก็อาจเป็นสาเหตุให้ทารกไม่ยอมดูดนม การมีเพดานปากโหว่ ไม่ใช่อาการปากแหว่ง เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกดูดนมได้อย่างยากลำบาก ซึ่งบางครั้งอาการเพดานปากโหว่ก็สังเกตเห็นได้ยาก เพราะเกิดขึ้นกับส่วนที่อยู่ภายในปากของทารก

พังผืดใต้ลิ้น (เนื้อเยื่อสีขาวที่อยู่ใต้ลิ้น) อาจมีผลให้ทารกดูดนมได้ยาก พังผืดนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ หมอจำนวนมากจึงไม่เชื่อว่ามันกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันมีผล ทารกเรียนรู้การดูดนมแม่ด้วยการดูดจริง หัวนมที่ทำเทียมขึ้นจึงมีส่วนขัดขวางการดูดนมจากเต้าของทารก ถ้าน้ำนมที่ได้รับจากเต้านมแม่ไหลช้า (ดังที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามวันแรกหลังการคลอด) ในขณะที่นมที่ได้จากขวดไหลเร็ว ทารกจำนวนมากจะเรียนรู้ความแตกต่างนี้ได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ทารกปฏิเสธการดูดนมมาจากความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า ทารกในช่วงสองสามวันแรกของชีวิตจะต้องดูดนมแม่ทุก 3 ชั่วโมง หรือกี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ตามตารางเวลาที่กำหนด เมื่อทารกไม่ดูดนมตามเวลาที่กำหนด เช่น สามชั่วโมงภายหลังการคลอด จึงมักก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้น และบ่อยครั้งที่มีการบังคับให้ทารกดูดนมทั้งที่ยังไม่พร้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อถูกบังคับให้ดูดนมแม่เมื่อยังไม่ต้องการหรือยังไม่พร้อม ทารกบางคนจะเกิดอาการเกลียดเต้านมไปเลย ถ้าความเชื่อผิด ๆ อันนี้ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นว่า "ทารกต้องได้รับอาหาร" ก็อาจมีความพยายามใช้วิธีอื่นในการป้อนทารก (ที่แย่ที่สุดก็คือการใช้ขวดนม) ส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง และเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ในที่สุด

ไม่มีหลักฐานอะไรบ่งชี้ว่าทารกคลอดครบกำหนดที่แข็งแรงจะต้องได้รับอาหารทุก ๆ สามชั่วโมงในช่วงสองถึงสามวันแรกหลังคลอด และก็ไม่มีข้อพิสูจน์อะไรว่าทารกจะมีระดับน้ำตาลต่ำหากไม่ได้รับอาหารทุกสามชั่วโมง (ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเรื่องของความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในการดูแลเด็กแรกเกิด ทั้ง ๆ มันมีที่มาจากความเป็นจริงเพียงแค่บางส่วน และบางครั้งกลับนำไปสู่ปัญหามากกว่าป้องกันปัญหา ซึ่งรวมไปถึงปัญหาที่ทารกจำนวนมากได้รับนมผสมโดยไม่จำเป็น ถูกแยกจากแม่โดยไม่มีเหตุผลสมควร และไม่ยอมดูดนม

ทารกควรได้อยู่กับแม่ ได้รับการกอดให้ผิวของทารกแนบสัมผัสกับผิวของแม่โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน การให้ทารกได้อยู่กับแม่โดยผิวหนังแนบสัมผัสกันโดยตรงทันทีหลังจากคลอดออกมา จะช่วยให้ทารกและแม่มีเวลาในการ "ค้นพบ" กันและกัน และป้องกันปัญหาทารกไม่ยอมดูดนมได้เป็นส่วนใหญ่ การให้ผิวหนังของทารกสัมผัสกับผิวของแม่ยังช่วยให้ร่างกายของทารกได้รับความอบอุ่นเหมือนกับการอยู่ภายใต้โคมไฟให้ความร้อนอีกด้วย

การให้ทารกได้อยู่กับแม่เป็นเวลา 5 นาทีไม่ใช่ทางออกของปัญหา ทารกและแม่ควรได้อยู่ด้วยกันจนกว่าทารกจะดูดนมเอง ไม่มีความกดดันใด ๆ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ("เราต้องชั่งน้ำหนักเด็ก" "เราต้องให้วิตะมินเคกับเด็ก" หรือขั้นตอนอื่น ๆ เรื่องพวกนี้สามารถรอได้) ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น

แต่ทารกก็ยังไม่ยอมดูดนม

เอาล่ะ ทีนี้มาถึงคำถามที่ว่าเราควรจะรอกันนานแค่ไหน คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัว ถ้าทารกยังไม่แสดงทีท่าว่าอยากจะดูดนมภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังคลอด แน่นอนว่าก็น่าจะมีการลองทำอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่านโยบายของโรงพยาบาลมักจะให้แม่กลับบ้านได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง


แล้วมีอะไรบ้างล่ะที่พอจะทำได้

แม่ควรเริ่มบีบน้ำนมของตัวเอง และนำน้ำนมเหลือง (colostrum) ที่บีบได้ จะเป็นนมอย่างเดียวหรือผสมกับน้ำผสมน้ำตาลก็ได้ ป้อนให้แก่ทารก ถ้าให้ดีควรป้อนโดยใช้เทคนิค Finger Feeding (การป้อนโดยใช้นิ้วร่วมกับอุปกรณ์ที่เรียกว่า Lactation Aid หมายเหตุ : มีผู้ผลิตอุปกรณ์ Finger Feeding ขายอยู่เหมือนกันค่ะ แต่สำหรับการใช้ระยะสั้นแบบนี้ ใช้ช้อนป้อนก็น่าจะพอแทนได้)
ถ้ายังบีบน้ำนมเหลืองไม่ค่อยออก (ส่วนใหญ่การใช้มือบีบจะดีกว่าปั๊มในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด) จะใช้น้ำผสมน้ำตาลอย่างเดียวไปก่อนในช่วงสองสามวันแรกก็ได้ ทารกส่วนใหญ่จะเริ่มดูด และหลายคนจะตื่นตัวมากพอที่จะพยายามไปหาเต้านมแม่

ทันทีที่ทารกเริ่มดูดได้ดี ให้หยุดป้อนโดย Finger Feeding และให้ทารกลองดูดนมจากเต้า Finger Feeding เป็นขั้นตอนที่ช่วยเตรียมทารกให้ดูดนมจากเต้า ไม่ใช่วิธีที่มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงการให้นมขวด ถึงแม้ว่ามันจะช่วยขจัดความจำเป็นในการให้นมขวดไปด้วยในตัวก็ตาม ดังนั้น จึงเป็นเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ก่อนการพยายามให้ทารกดูดนมจากเต้า เพื่อช่วยในการเตรียมทารกให้พร้อมก่อนการดูดนมแม่ ดู handout #8 Finger Feeding (ยังไม่ได้แปล)
ก่อนที่แม่และทารกจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ควรจัดให้แม่และลูกได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างช้าที่สุดไม่เกินภายในวันที่สี่หรือห้าหลังการคลอด ทารกจำนวนมากที่ไม่สามารถดูดนมได้ในช่วงสองถึงสามวันแรกจะสามารถดูดนมได้อย่างดีเมื่อน้ำนมแม่มามากขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประมาณวันที่สามหรือสี่หลังคลอด การจัดให้มีการให้ความช่วยเหลือในช่วงระหว่างนี้จะช่วยป้องกันความผิดพลาดในการดูดนมของทารกที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป
การใช้ Nipple Shield (แผ่นซิลิโคนป้องกันหัวนมแตก หรือใช้ติดเพื่อช่วยสำหรับผู้ที่มีหัวนมบอด) ก่อนที่น้ำนมแม่จะมามาก (วันที่ 4 ถึง 5) เป็นการกระทำที่ผิด การเริ่มใช้ Nipple Shield ก่อนที่น้ำนมจะมาเป็นการไม่ให้โอกาสได้ทดลองดูว่ามันจำเป็นหรือไม่ นอกจากนี้ หากใช้โดยไม่เหมาะสม (ดังที่ผู้เขียนพบอยู่เป็นประจำ) สามารถทำให้น้ำนมแห้งไปได้อย่างน่าตกใจ

ดิฉันกลับจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้านแล้ว ลูกไม่ยอมดูดนม ดิฉันจะทำอย่างไรดี

ปัจจัยสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลให้ทารกยอมดูดนมหรือไม่ก็คือ แม่ต้องมีน้ำนมมากเพียงพอ หากแม่มีน้ำนมมากมายเหลือเฟือ ไม่ว่าจะอย่างไรทารกจะยอมดูดนมเองในช่วงอายุ 4-8 สัปดาห์ สิ่งที่พวกเราที่คลีนิคให้คำปรึกษาพยายามจะทำก็คือ การช่วยให้ทารกดูดนมเร็วขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องรอเป็นเวลานานขนาดนั้น

ดังนั้น การพยายามให้แม่มีน้ำนมมากพอมีความสำคัญกว่าการหลีกเลี่ยงขวดนม ขวดนมมีส่วนขัดขวางการดูดนมแม่ และหากสามารถใช้วิธีอื่น (เช่นป้อนจากถ้วย) ก็จะดีกว่า แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่มีทางเลือก คุณก็ควรจะทำ
ศึกษาท่าทางการให้นมที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงที่มีประสบการณ์ เมื่อทารกเริ่มดูดนม ให้บีบเต้านมเพื่อให้น้ำนมพุ่งเขปาก. และลองให้ดูดจากเต้าที่เขาชอบหรือจากเต้าที่มีน้ำนมมากกว่าก่อน ไม่ควรเริ่มจากเต้าที่ทารกแสดงอาการต่อต้าน

ถ้าทารกยอมอ้าปากอมหัวนม เขาจะเริ่มดูดและกลืนนม

หากทารกไม่ยอมดูดนม อย่าบังคับ นั่นไม่ใช่วิธีที่ได้ผล (ดูเพิ่มเติม ลูกได้นมพอหรือไม่) ทารกอาจจะหัวเสียหรือไม่ก็แสดงอาการหมดเรี่ยวแรงไปเลย อุ้มเขาออกจากอกและเริ่มต้นใหม่ การอุ้มทารกเข้า-ออก เข้า-ออกจากอกหลาย ๆ ครั้งจะดีกว่าการบังคับให้เขาอยู่กับอกเมื่อเขาไม่ยอมดูดนม หากทารกยอมเข้าหาเต้านมแม่และดูดเพียงคำหรือสองคำ นั่นก็คือเขาไม่ยอมดูดนม

ถ้าทารกปฏิเสธเต้านม อย่ายืนกรานให้ดูดให้ได้จนเขาโกรธ ลองใช้เทคนิค Finger Feeding เป็นเวลาตั้งแต่สองสามวินาทีจนถึงหนึ่งหรือสองนาทีแล้วเริ่มต้นใหม่ โดยอาจลองเปลี่ยนไปให้จากเต้าอีกข้างดู เราใช้ Finger Feeding เพื่อเตรียมทารกให้ดูดนมจากเต้า ไม่ใช่เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ขวด ถ้าทารกยังคงไม่ยอมดูดนม ท้ายที่สุดแล้วให้จบมื้อนั้นโดยการป้อนด้วยวิธีอะไรก็ได้ที่ง่ายที่สุดสำหรับคุณ

การใช้ Lactation Aid ในขณะที่ทารกดูดนมจากเต้าอาจจะช่วยได้ แต่มักจะจำเป็นต้องใช้มือเพิ่มมาอีกข้างสำหรับอุปกรณ์ หลังจากคลอดประมาณสองสัปดาห์ สิ่งที่คุณทำในช่วงที่ผ่านมามักจะทำให้ทารกรับรู้ได้แล้วว่า "เรื่องแบบนี้มีวิธีทำได้หลายวิธี ถ้าคุณเคยป้อนโดยวิธี Finger Feeding เพียงอย่างเดียว ในบางกรณีการเปลี่ยนไปป้อนด้วยแก้วหรือขวดอาจจะได้ผล หรือบ่อยครั้งที่การใช้ Nipple Shield จะใช้ได้ผล ถ้าคุณเคยป้อนด้วยขวดเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนไปป้อนโดย Finger Feeding ก็อาจจะได้ผล (การพยายามป้อนนมจากเต้าก็ใช้ได้หากการใช้ Finger Feeding ช้าเกินไป และจบมื้อนั้นโดยการป้อนด้วยแก้วหรือขวด)

จะรักษาและเพิ่มปริมาณน้ำนมได้อย่างไร

บีบนมออกให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยที่สุดวันละ 8 ครั้ง ใช้ปั๊มคุณภาพดีปั๊มทีเดียวพร้อมกันทั้งสองข้าง การบีบเต้านมระหว่างปั๊มจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปั๊มและช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม (อาจต้องใช้มือเพิ่มอีกข้างหนึ่ง แต่แม่อาจตั้งปั๊มให้ไม่ต้องใช้มือถืออุปกรณ์ระหว่างการปั๊มเพื่อจะได้ใช้มือที่ว่างอยู่บีบเต้านมได้). ถ้าทารกไม่ยอมดูดนมภายในวันที่ 4 หรือ 5 ให้รับประทาน Fenugreek และ Blessed Thistle เพื่อเพิ่มน้ำนม การใช้ยา Domperidone ก็อาจช่วยได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ Nipple Shield อย่าเพิ่งเริ่มใช้อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีปริมาณน้ำนมมากพอแล้ว (อย่างน้อยที่สุดก็ 2 สัปดาห์หลังคลอด) และควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก่อน

อย่าเพิ่งท้อ ถึงแม้ว่าจะมีน้ำนมไม่มากพอทั้งหมดเท่าที่ทารกต้องการ ทารกส่วนมากก็ยังยอมดูดนมแม่อยู่ดี ให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าพยายามแก้ไขด้วยตัวเองคนเดียว

--------------------------------------------------------------------------------

แปลจาก Handout #26. When The Baby Refuses to Latch On. January 2005 Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005 โดย แม่ต่าย

บทความนี้ แม่ต่าย อาสาแปลให้โดยมิได้ร้องขอ หากคุณผู้อ่านทุกท่านอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ขอความกรุณาส่งคำขอบคุณสั้นๆ ให้ผู้แปลบ้าง เราเชื่อว่าน่าจะเป็นการตอบแทนซึ่งทำให้ผู้รับอิ่มใจไม่น้อยค่ะ

FINANCE

น้ำหนักตัวเพิ่มช้า

น้ำหนักตัวเพิ่มช้า

บทนำ

บางครั้งทารกที่ดูดนมจากอกแม่เพียงอย่างเดียวและน้ำหนักเพิ่มได้ดีในช่วงเดือนแรกๆ เริ่มจะน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่มากหลังจาก 2-4 เดือน นี่อาจเป็นเรื่องปกติ เพราะทารกที่กินนมแม่จะไม่โตตามกราฟแสดงการเจริญเติบโตของเด็กกินนมผสม มันอาจดูเหมือนทารกที่กินนมแม่โตช้าเกินไป แต่ความเป็นจริงคือ ทารกที่กินนมผสมโตเร็วเกินไปต่างหาก การให้ลูกดูดนมจากอกแม่ คือวิธีให้อาหารแก่ทารกและเด็กอ่อนซึ่งเป็นวิธีปกติ เป็นไปตามธรรมชาติและความเหมาะสมทางกายภาพ การใช้ทารกที่กินนมผสมเป็นแม่แบบของความปกติเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล และจะยังนำไปสู่ความเข้าใจผิดในการแนะนำคุณแม่เกี่ยวกับการให้อาหารและการเจริญเติบโตของทารกอีกด้วย ในบางกรณี ความเจ็บป่วยอาจจะทำให้ทารกน้ำหนักเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่การให้ทารกกินนมผสมเพิ่มเติมจากการให้กินนมแม่ไม่ได้ช่วยให้เขาหายป่วย และทารกอาจจะสูญเสียข้อดีทั้งหลายที่จะได้จากการดูดนมจากอกแม่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย คุณแม่ควรจะดูออกว่าทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ (ดูข้างล่าง) ถ้าทารกได้รับนมไม่พอ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะเขาไม่สบาย แต่มักจะเกิดจากนมแม่มีปริมาณลดลง สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เวลาที่ทารกน้ำหนักตัวเพิ่มช้ามากจนผิดปกติหลังจาก 2-3 สัปดาห์หรือ 2-3 เดือนแรก คือ น้ำนมแม่มีปริมาณลดลง

ทำไมน้ำนมจึงมีปริมาณลดลงได้

1. คุณแม่อาจอยู่ระหว่างกินยาคุมกำเนิด ถ้าคุณแม่กินยาคุมกำเนิด ให้หยุดกิน นอกเหนือจากการกินยาคุมกำเนิด ยังมีวิธีการอื่นที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้
2. คุณแม่กำลังตั้งครรภ์
3. คุณแม่พยายามยืดช่วงเวลาระหว่างการให้นมแต่ละครั้งให้ห่างออกไป หรือพยายามจะ “หัด” ลูกให้นอนหลับตลอดคืน ถ้านี่เป็นสาเหตุ คุณแม่ควรให้ทารกกินนมเมื่อเขาหิว หรือเมื่อเขาเริ่มดูดนิ้วมือตัวเอง
4. คุณแม่ใช้ขวดนมบ่อยขึ้น แม้กระทั่งตอนที่ยังมีน้ำนมมากอยู่ การใช้ขวดบ่อยๆ ก็จะทำให้ทารกไม่งับหัวนมให้สนิทดีเวลาที่เขาคาดหวังว่าน้ำนมจะไหลเร็ว ถึงแม้คุณแม่จะให้กินนมขวดที่ใส่นมแม่เพียงอย่างเดียวก็ตาม เมื่อน้ำนมไหลช้าลงทารกจะผละออกจากอกแม่ ทำให้เขาใช้เวลาอยู่ที่อกแม่น้อยลง และปริมาณน้ำนมก็จะยิ่งลดลงไปอีก
5. บางครั้งอาการ “ช็อค” ทางอารมณ์ ก็จะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้เหมือนกัน
6. บางครั้งการป่วยก็อาจทำให้น้ำนมลดลง โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดอาการไข้ รวมทั้งโรคติดเชื้อที่หัวนม แต่โชคดีที่การเจ็บป่วยที่เกิดกับคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะไม่ทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง
7. คุณแม่อาจจะทำงานมากเกินไป คุณไม่จำเป็นต้องเป็นยอดคุณแม่ ให้คนอื่นช่วยทำงานบ้าน พยายามนอนหลับพักผ่อนเวลาที่ลูกหลับ และให้ทารกดูดนมตอนที่คุณแม่หลับ
8. ยาบางชนิดอาจทำให้น้ำนมลดลง เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด (เช่น เบ็นดรีล) ยาลดน้ำมูกบางชนิด (เช่น ซูดาเฟ็ด)
9. คุณแม่ให้ทารกกินนมแค่ข้างเดียวในการกินนมแต่ละครั้ง เพราะอยากให้ทารกได้รับนมส่วนหลัง (hindmilk) ซึ่งมีไขมันสูง แต่อย่าลืมว่าถ้าทารกดูดนมไม่ถูกวิธี เขาก็จะไม่ได้กินนมเลย และถ้าเขาไม่ได้นมเลย เขาก็จะไม่มีทางได้นมส่วนหลังเช่นกัน ควรให้ทารกกินนมให้หมดข้างหนึ่งก่อน และถ้าเขายังต้องการกินต่อก็ควรให้เขากินอีกข้างหนึ่งต่อด้วย
10. อาจเกิดจากหลายสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นร่วมกัน
11. บางครั้งน้ำนมจะลดลงโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน (โดยเฉพาะช่วงประมาณ 3 เดือน) แต่โดยทั่วไปแล้วคุณจะน่าจะสามารถหาสาเหตุได้จากย่อหน้าถัดไป

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำนมลดปริมาณลง ต้องมีคำขยายความเพิ่มเติม ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ทารกมักจะผล็อยหลับเวลาที่น้ำนมไหลช้าลง (การที่น้ำนมไหลช้ามักจะเกิดเร็วขึ้นถ้าทารกไม่สามารถงับหัวนมได้สนิทดี เพราะทารกจะได้กินน้ำนมจากกลไกการหลั่งน้ำนม หรือการที่น้ำนมพุ่งออกมาเองเท่านั้น : Milk Ejection Reflex หรือ Let down reflex) ทารกจะดูดนมสลับกับนอนหลับ โดยไม่ได้รับน้ำนมเยอะๆ ในช่วงนี้ แต่คุณแม่อาจจะยังมีกลไกการหลั่งน้ำนม (หรือการที่น้ำนมพุ่งออกมาเอง) เป็นครั้งคราว ซึ่งจะทำให้ทารกได้กินนมมากขึ้น ตอนที่คุณแม่มีน้ำนมมาก น้ำหนักตัวของทารกจะเพิ่มขึ้นตามปกติ แต่เขามักจะใช้เวลาอยู่ที่อกแม่นานทั้งๆ ที่คุณแม่มีน้ำนมมาก แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น ทารกหลายๆ คนก็เริ่มจะผละออกจากอกแม่เวลาที่น้ำนมไหลช้าลง โดยมากหลังจากเริ่มกินนมได้ไม่กี่นาที ลักษณะเช่นนี้มักจะเกิดในทารกที่เริ่มกินนมจากขวดตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก็อาจเกิดในทารกที่ไม่ได้กินนมจากขวดเลยได้ด้วยเช่นกัน ส่วนมากคุณแม่ก็มักจะเปลี่ยนให้ทารกไปดูดนมจากอกอีกข้างหนึ่ง แต่ทารกก็จะผละจากอกแม่อีกเหมือนเดิม เขาอาจจะยังรู้สึกหิวอยู่ แต่ก็จะไม่ยอมกินนมจากเต้านมและดูดนิ้วมือตัวเองแทน แล้วเขาก็จะไม่ได้น้ำนมที่หลั่งออกมาเองซึ่งเขาควรจะได้กินถ้าเขายังคงอยู่ที่หน้าอกแม่ด้วย ดังนั้นทารกจะกินนมได้น้อยลง และปริมาณน้ำนมของคุณแม่ก็จะลดลงเพราะทารกดูดน้อยลง แล้วน้ำนมก็จะไหลช้าลงแม้แต่ในช่วงแรกของการกินนม (เพราะมีน้ำนมอยู่น้อย) นี่คงพอจะทำให้คุณแม่เข้าใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่ว่านี้เสมอไป ทารกหลายคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ดีทั้งที่ใช้เวลาอยู่ที่หน้าอกแม่ไม่นาน พวกเขาอาจจะผละออกจากอกแม่และดูดนิ้วตัวเองเพราะเขายังอยากดูดอยู่ แต่ถ้าน้ำหนักตัวของเขาเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล วิธีป้องกันในกรณีสุดท้ายนี้ คือ ทำให้ทารกงับหัวนมได้สนิทดีตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ให้เขากินนม แต่บางทีคุณแม่หลายๆ คนก็ได้รับการบอกเล่าว่าทารกงับหัวนมได้สนิทดี ทั้งที่ไม่ใช่ การงับหัวนมให้สนิทดีขึ้นช่วยแก้ปัญหาได้ แม้กระทั่งหลังจากเวลาผ่านไปนานแล้ว นอกจากนี้การบีบหน้าอกมักจะทำให้ทารกยังคงได้กินนมต่อไป (ดู วิธีการในการเพิ่มปริมาณการกินนมของทารก)บางครั้งยาดอมเพอริโดนจะทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ห้ามใช้ยานี้ถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์ (ดูแผ่นพับเรื่องยาดอมเพอริโดน)



คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกได้กินนมเวลาที่เขาอยู่ที่อกแม่

ในขณะที่เด็กทารกกินนมได้ (ไม่ใช่แค่เพราะเขามีเต้านมอยู่ในปากและทำท่าดูด) คุณจะต้องเห็นว่าหลังจากที่เขาอ้าปากและดูดนมได้ปริมาณมากพอ จะต้องมีการหยุดเคลื่อนไหวตรงปลายคางก่อนที่เขาจะปิดปาก ดังนั้นการดูดนม 1 ครั้ง คือ อ้าปากกว้าง --> หยุด --> ปิดปาก ถ้าคุณต้องการจะสาธิตการดูดแบบนี้ด้วยตัวเอง ให้ลองเอานิ้วชี้ใส่ปากตัวเอง และดูดนิ้วเหมือนกับดูดน้ำจากหลอดกาแฟ ขณะที่คุณดูดเข้าไป คางของคุณจะลดต่ำลงและค้างอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อคุณหยุดดูด คางของคุณจะกลับมาที่ตำแหน่งเดิม ถ้าคุณสังเกตเห็นการหยุดเคลื่อนไหวแบบนี้ที่บริเวณคางของลูก นั่นหมายความว่า ลูกของคุณดูดนมได้จนเต็มปากของเขาในการดูดแต่ละครั้ง

ยิ่งมีการหยุดเคลื่อนไหวนานเท่าไร ทารกก็ยิ่งดูดนมได้มากเท่านั้น เมื่อคุณเข้าใจการดูดนมที่มีการหยุดเคลื่อนไหวของคางแบบที่ว่านี้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับคำแนะนำไร้สาระต่างๆ ที่บอกต่อๆ กันมาเกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่ เช่น ต้องให้ลูกดูดนมจากเต้านมข้างละ 20 นาที ทารกที่ดูดนมในลักษณะนี้ (มีการหยุดเคลื่อนไหวคาง) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20 นาที อาจจะไม่ยอมดูดนมอีกข้างหนึ่งเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่เด็กทารกที่อมหรือตอดหัวนมอยู่ 20 ชั่วโมง (โดยไม่ได้กินนม) ก็จะยังรู้สึกหิวอยู่หลังจากแม่ให้นมเสร็จแล้ว



คุณสามารถดูวิดีโอที่ เว็บไซต์ ซึ่งมีวิดีโอแสดงการงับหัวนมอย่างถูกวิธี วิธีดูว่าทารกได้กินนมหรือไม่ และวิธีการบีบหน้าอก



แผ่นพับที่ 25 - น้ำหนักตัวเพิ่มช้าลงหลังจาก 2-3 เดือนแรก (ตุลาคม 2549)

แปลและเรียบเรียงโดย นิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์

จาก Handout #25: Slow Weight Gain After the First Few Months. January 2005

Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005



แผ่นพับนี้สามารถคัดลอกและนำไปแจกจ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากผู้เขียน/ผู้แปล โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่นำไปใช้ในทางที่จะละเมิดหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการทำการตลาดของนมผสมและสารทดแทนนมแม่

บทความนี้แปลโดยคุณนิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์ ซึ่งสละเวลาส่วนตัวทำให้โดยมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ หากคุณผู้อ่านทุกท่านอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ขอความกรุณาส่งคำขอบคุณสั้นๆ ให้ผู้แปลบ้าง เราเชื่อว่าน่าจะเป็นการตอบแทนซึ่งทำให้ผู้รับอิ่มใจไม่น้อยค่ะ

นมแม่ ต้องรู้

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

โดย แพทย์หญิงสุวิมล ชีวมงคล

( กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก)


ข้อดีของ การเลี้ยงลูกด้วย นมแม่

การเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ ไม่ใช่เป็นเพียงการให้อาหารเพื่อให้ลูกอิ่ม และ ช่วยให้ลูกเติบโตเท่านั้น แต่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นเรื่องของกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการ และ การเจริญเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเอื้อโอกาสให้เด็กกลายเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี ความเป็นผู้มีจริยธรรม อดทน อดกลั้น และ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น อันเนื่องมาจาก



๑. สารอาหารใน นมแม่ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างเหมาะสม ตามอายุลูก ซึ่งจะช่วยให้ลูกฉลาด และ แข็งแรง สารอาหารสำคัญ คือ ไขมันใน นมแม่ ที่จะไปห่อหุ้มเส้นใยประสาทในสมองเด็กที่กำลังเพิ่มการเชื่อมโยงการทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การทำงานของสมองเด็กสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปรตีนใน นมแม่ ที่จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็ก สารต้านการอักเสบใน นมแม่ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ และไม่สบายของเด็ก ทำให้เด็กไม่ต้องเสียโอกาสของการพัฒนาความสามารถไปกับความเจ็บป่วย ซึ่งสารอาหารดังกล่าวทั้งหมด ไม่สามารถจะถูกทดแทนได้ด้วย นมผสม



๒. สัญชาตญาณความเป็นแม่ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มระดับของฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน ( Oxytocin ) ในตัวแม่ขณะที่ลูกกำลังดูดนมจากอกแม่ที่จะช่วยให้แม่เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน เปี่ยมด้วยความรักและเมตตา อันเนื่องมาจากความรู้สึกสงบ เป็นสุข เปี่ยมด้วยความรัก ที่แม่มีต่อลูก ที่เกิดขึ้นมากกว่าปกติในตัวแม่ขณะลูกกำลังดูด นมแม่ ซึ่งเด็กจะรู้สึกได้ถึงความรู้สึกอ่อนโยน ทำให้เด็กอารมณ์ดี และ เป็นสุข



๓. กระบวนการโอบอุ้ม และ โต้ตอบ ระหว่างแม่และลูก ขณะลูกดูดนมจากอกแม่ ที่จะปูพื้นฐานสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม ในเด็ก เพราะขณะที่ลูกดูดนมจากอกแม่ ลูกจะสบตาแม่ เป็นการสื่อสารสำคัญที่ถ่ายทอดผ่านการมองเห็นในระยะที่เหมาะสม เพราะช่วงแรกเกิด การมองเห็นของเด็ก จะเหมือนคนสายตาสั้น ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนระดับการมองเห็นไปเป็นระดับปกติเมื่อเด็กอายุ ๑ ปี นอกจากนี้ ขณะที่ลูกกำลังดูด นมแม่ มือลูกจะสัมผัสกับผิวแม่ จมูกลูกจะได้กลิ่นกายแม่ ลิ้นของลูกจะได้รับรส น้ำนมแม่ ร่วมกับความรู้สึกอิ่ม สบาย และ ผ่อนคลาย ขณะที่หูของลูกจะได้ยินเสียงที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว ดังนั้น ประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็กจะถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงาน บนความรู้สึกดีๆที่แม่ถ่ายทอดสู่ลูก อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการสังเกต และ โต้ตอบอย่างเหมาะสมของเด็ก



ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ได้หยุดอยู่ที่ตัวเด็ก ที่ช่วยให้เด็ก ฉลาด แข็งแรง ลดโอกาสการเป็นโรค และ มีความพร้อมต่อการพัฒนาเป็นผู้มีจริยธรรมที่ดี จิตใจอ่อนโยน และ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรง ถึงแม่ ครอบครัว สังคม และ ประเทศ กล่าวคือ แม่ จะลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านม ครอบครัวจะมีความสุขอันเนื่องมาจากการเป็นเด็กแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี ไม่ต้องเปลืองเงินไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลูก และ การซื้อนมผสม สังคม จะเปี่ยมไปด้วยคนที่มีจิตใจดี และ มีความสามารถเต็มตามศักยภาพ ในขณะที่ประเทศมั่นคง เพราะสังคมดี และ เศรษฐกิจดี



ข้อควรรู้เมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

๑. การเติบโตของเด็กกินนมแม่ จะแตกต่างจากเด็กกินนมผสม ทั้งนี้ เด็กที่ได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม จะเติบโตเร็วในช่วงแรก โดยเฉลี่ย ประมาณ ๖ เดือน จากนั้น การเติบโตของเด็กกินนมแม่หลายคน จะช้ากว่า เด็กที่กินนมผสม อย่างไรก็ตาม ขณะที่กำลังเขียนข้อมูลนี้ กำลังอยู่ในระหว่างที่องค์การอนามัยโลก และ บุคลากรทางสาธารณสุขในประเทศไทยหลายท่านกำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาทำแผนผังการเติบโตของเด็กกินนมแม่ (Growth Chart) ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน (แผนผังการเติบโตของเด็กที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นแผนผังการเติบโตของเด็กที่กินนมมสม)

๒. แม่ทุกคนมีปริมานน้ำนมมากพอที่จะเลี้ยงลูก อย่ากังวลหากแม่บีบน้ำนมแม่ไม่ออกใน ๒ – ๓ วันแรกหลังคลอด เพราะในระยะนี้ น้ำนมแม่ยังมีปริมาณมากนัก แต่จะมีมากพอสำหรับลูก ขอเพียงแค่ คุณแม่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เชื่อมั่นว่าตนเองต้องมีน้ำนมพอ ทำตัวเองให้ผ่อนคลายไม่เครียด พยายามอดทนต่อความเหนื่อยที่ให้ลูกดูดนมทุก ๒- ๓ ชั่วโมง อดทนต่ออาการเจ็บหรือเสียวมดลูกขณะลูกกำลังดูดนม เพราะ ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน ที่ช่วยเพิ่มสัญชาตญานความเป็นแม่ จะส่งผลทำให้มดลูกหดตัวเช่นกัน

๓. เทคนิคสำคัญสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือให้ลูก ดูดเร็ว โดยให้ลูกดูดทันทีในห้องคลอด ดูดบ่อย ทุก ๒ – ๓ ชั่วโมง ดูดถูกวิธี คือปากลูกงับให้ถึงลานนม สังเกตได้จากปากลูกจะบาน คางลูกแนบหน้าอกแม่ ดั้งจมูกชิด หรือเกือบชิดหน้าอกแม่

๔. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ๖ เดือนแรก ไม่ต้องกินน้ำ หรืออาหารอื่น เป็นข้อแนะนำของ องค์การอนามัยโลก ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ซึ่งได้จากการรวบรวมผลวิจัยจากประเทศต่างๆ และสรุปเป็นข้อแนะนำในคู่มือการให้อาหารทารก ( Global Strategy of Infant and Young Child Feeding ) เมื่อปี ๒๕๔๖ ว่า ทารกแรกเกิดทุกคนควรได้กินนมแม่อย่างเดียวไปจนอายุครบ ๖ เดือน แล้ว จึงให้นมแม่ร่วมกับน้ำ และอาหารอื่นที่เหมาะสมตามวัย จนลูกอายุ ๒ ปี หรือ นานกว่านั้น โดยอาหารเสริมที่จัดให้ลูกควรเป็นอาหารที่ผลิตเองในครัวเรีอน สำหรับการให้นมแม่โดยไม่ให้น้ำ ซึ่งขัดแย้งกับวิธีปฏิบัติของแม่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น เหตุผลสำคัญที่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินน้ำ คือ ในนมแม่มีน้ำเป็นจำนวนมากพอที่เด็กต้องการ และ การให้เด็กกินน้ำหลังจากกินนมแม่จะลดสารต้านการอักเสบที่มีในนมแม่ เพราะน้ำจะไปล้างสารต้านการอักเสบที่ลูกได้รับจากการกินนมแม่ที่เคลือบในปากลูกหลังจากลูกกินนมแม่

๕. ไม่จำเป็นต้องเช็ดถู ทำความสะอาดหัวนมก่อนให้ลูกดูดนมแม่ แต่ ควรจะดูว่าหัวนมตนเองมีขนาดสั้น ยาว หรือใหญ่กว่าปกติ ขณะตั้งครรภ์ เพราะหัวนมที่สั้น ยาว หรือใหญ่กว่าปกติอาจทำให้ลูกดูดนมแม่ได้ไม่ค่อยถนัด ทั้งนี้หากแม่มีความยาวหัวนมสั้นกว่าปกติ สามารแก้ไขได้ขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ลูกดูดนมแม่ได้ง่ายหลังคลอด ( ความยาวหัวนมปกติ คือ ๐.๕ – ๑ เซนติเมตร )

๖. แม่ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่ เพื่อลดโอกาสการผ่านเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก

๗. การใช้มือบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูก ดีกว่าใช้เครื่องปั๊มนม เพราะนอกจากจะสะดวก และ ประหยัดแล้ว การบีบน้ำนมด้วยมือ จะทำให้ได้ปริมาณน้ำนมที่มากกว่าการใช้เครื่องปั๊ม

๘. โดยทั่วไป แม่ที่ให้ลูกดูดนมแม่ จะมีรูปร่าง และ น้ำหนักกลับมาเป็นปกติเหมือนตอนก่อนท้อง เมื่อลูกอายุ ประมาณ ๖ เดือน ดังนั้น แม่ไม่จำเป็นต้องลดปริมาณอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก แต่หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่จะทำให้แม่อ้วนเท่านั้น



ข้อควรระวังเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

๑. การเลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี เพราะจำกัดการโต้ตอบกับเด็กไว้เพียงการอุ้มลูกมาดูดนมแม่เท่านั้น คุณแม่มือใหม่หลายท่าน จะมีความรู้สึกเป็นห่วงกลัวลูกไม่อิ่ม ดังนั้น เมื่อลูกตื่น หรือ ร้อง จะคอยเอาลูกมาอุ้ม และ ให้กินนมแม่โดยลืมปล่อยลูกวางไว้กับเบาะเพื่อให้ฝึกคืบ หรือพลิกคว่ำพลิกหงาย รวมถึงไม่ได้ฝึกให้ลูกคว้าของ จับของ หรือ สิ่งต่างๆรอบตัว ดังนั้น ความฉลาดที่ลูกได้มาจากพ่อแม่ และ ได้เสริมจากการการกินนมแม่ เมื่อไม่ได้รับการฝึกฝน ก็จะไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพตามที่ควรจะเป็น ทำให้ดูเหมือนเด็กกินนมแม่บางคน พัฒนาการช้ากว่าปกติ

๒. หัวนมแตก ขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะ ท่าอุ้มไม่ถูกวิธีขณะให้ลูกดูดนม คุณแม่ที่ให้ลูกดูดนมแม่ แล้วพบว่า ต่อมา เกิดมีแผลที่หัวนม ให้ระวังว่าจะเกิดจากการให้ลูดดูดนมโดยปากลูกงับไม่ถึงลานนม ทำให้เกิดการเสียดสีของเหงือกลูก กับผิวหนังที่นมแม่ขณะที่ลูกดูดนมแม่ วิธีแก้ คือ ประคองคอลูก แล้วส่งศีรษะลูกมาให้ชิดกับหน้าอกแม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ปากลูกงับลานนม จะช่วยลดโอกาสการมีแผลเพิ่มที่หัวนม สำหรับผิวหนังแม่ที่เป็นแผลไปแล้วนั้น รักษาโดยเอาน้ำนมแม่มาป้ายที่แผล แล้วผึ่งให้แห้ง ทำซ้ำได้เป็นระยะ จนกว่าแผลจะหาย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาทา หรือ ยากินแก้อักเสบ



สิ่งที่ควรปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

๑. การดูแลตัวเองของแม่ ทั้ง อาหารกาย อาหารใจ การดูแลตัวเองของแม่ขณะให้นมลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะ ความเหนื่อย ความหิว และ ความเครียด จะทำให้การผลิตน้ำนมลดลง ดังนั้น ควรกินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ โดยมีปริมาณอาหารที่กินแต่ละมื้อ มากกว่าปริมาณอาหารที่แม่กินก่อนท้องประมาณ ๑ เท่าครึ่ง ในกรณีที่แม่น้ำหนักตัวปกติตอนก่อนท้อง (ไม่อ้วน หรือ ผอมเกินไป ) ควรกินน้ำ โดยเฉพาะน้ำอุ่นเป็นระยะ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยอาจจะดื่มน้ำ ๑ ถ้วย ก่อนมื้อที่ลูกจะดูดนมแม่ หรือ ก่อนแม่บีบน้ำนม พยายามทำจิตใจให้ผ่อนคลายไม่เครียด ด้วยวิธีที่ตนเองถนัด เช่น ฟังเพลง เป็นต้น เพื่อช่วยให้การผลิตน้ำนมแม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

๒. บีบน้ำนมแม่เก็บไว้ ทุกครั้งที่หน้าอกคัด ในกรณีที่ลูกไม่สามารถดูดนมแม่ได้ เพื่อช่วยให้เกิดการผลิตน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา

๓. ฝึกการให้ลูกดูดนม ทั้งท่านั่ง และ ท่านอน เพื่อช่วยให้แม่ไม่ต้องทรมานกับการนั่งให้นมลูกในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่คุณแม่เองก็ง่วงเช่นกัน

๔. เอื้อโอกาสสามีเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่ มีแนวโน้มจะกอดลูกไว้กับตัวอยู่แล้ว ดังนั้น ในกลุ่ม แม่ที่ให้ลูกกินนมแม่ จึงมีความพร้อมจะอุ้มลูกไว้กับอกตัวเองนานกว่าปกติ และ โดยธรรมชาติของเด็กที่ดูดนมแม่ระยะแรก จะนอนหลับทันทีเมื่อกินอิ่มและ ตื่นบ่อยเพราะหิว จึงควรเปิดโอกาสให้คุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกตั้งแต่แรก ด้วยการสัมผัสลูก พูดคุยกับลูก และ เล่นกับลูก เวลาที่ลูกตื่น และ รอที่จะกินมื้อใหม่ นอกจากนี้ การที่คุณพ่อเข้ามาช่วยดูแลแม่ เช่น นวดหลัง นวดคอ และ นวดไหล่แม่ เป็นต้น จะช่วยสร้างความผ่อนคลายในตัวแม่ และ พร้อมที่จะอุ้มลูกให้ดูดนมแม่อย่างไม่ย่อท้อ

ที่มา : www.nommae.org

อาหารเสริมสำหรับเด็กทารก

1-4 เดือน วัยนี้หม่ำได้แต่นมค่ะ

เมนูอาหารเด็กเล็ก อายุ 4-12 เดือน (สำหรับ 1 วัน)

อายุครบ 4 เดือนขึ้นไป
กินนมแม่ ข้าวบด ไข่แดงต้มสุกผสมแกงจืดวันละ 1 ครั้ง แล้วกินนมแม่ตามจนอิ่ม

อายุครบ 5 เดือน
กินนมแม่ เพิ่มข้าวบดเนื้อปลาสุกสลับกับไข่แดงต้มสุกผสมแกงจืดวันละ 1 ครั้ง แล้วกินนมแม่ตามจนอิ่ม

อายุครบ 6 เดือน
กินนมแม่ ข้าวบด เนื้อปลาสุกหรือไข่แดงต้มสุกผสมแกงจืด โดยเพิ่มผักสุกบดด้วยทุกครั้งเป็นอาหารแทนนมแม่ 1 มื้อ มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ

อายุครบ 7 เดือน
กินนมแม่ เพิ่มเนื้อสัตว์สุกบดชนิดอื่น เช่น ไก่ หมูและตับสัตว์สุกบด หรือทั้งไข่แดงและไข่ขาวต้มสุกบดลงในข้าวและผักบดสลับกับอาหารที่เคยให้เมื่ออายุครบ 6 เดือน มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ

อายุ 8-9 เดือน
กินนมแม่ กินอาหารเช่นเดียวกับอายุครบ 7 เดือน แต่บดหยาบและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นอาหารหลักแทนน้ำนมแม่ได้ 2 มื้อ มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ

อายุ 10-12 เดือน
กินนมแม่ กินอาหารเช่นเดียวกับอายุ 8-9 เดือน แต่เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเป็นอาหารหลักแทนน้ำนมแม่ได้ 3 มื้อ มีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ

ข้อแนะนำในการให้อาหารตามวัยแก่เด็กเล็ก
1. อย่าให้อาหารอื่นนอกจากนมแม่ในระยะ 4 เดือนแรก เพราะลูกจะได้รับประโยชน์จากนมแม่ไม่เต็มที่ และนมแม่จะลดลง เพราะการดูดกระตุ้นน้อยลง
2. ควรเริ่มให้อาหารอื่นตามเมนูที่แนะนำ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยง่ายขึ้น
3. เริ่มให้ลูกกินอาหารทีละอย่าง ทีละน้อยๆ เช่น 1 ช้อนชา แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนตามแต่ชนิดของอาหาร โดยให้กินก่อนกินนมแม่มื้อใดมื้อหนึ่งเป็นประจำ แล้วให้นมตามจนลูกอิ่มนะคะ ในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้อาหารวันละ 1 มื้อโดยเพิ่มทีละน้อยๆ จนมากพอ และเป็นอาหารหลักได้ 1 มื้อ เมื่ออายุ 6 เดือน
4. ควรป้อนอาหารทุกชนิดด้วยช้อนเล็กๆ เพราะเราต้องการหัดให้ลูกรู้จักการกินอาหารจากช้อนค่ะ
5. ควรเว้นระยะในการเริ่มอาหารใหม่แต่ละชนิด เพื่อดูการยอมรับและดูว่าลูกแพ้อาหารหรือไม่ เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
6. ถ้าลูกไม่กินเพราะไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ควรงดไว้ก่อนชั่วคราวค่ะ แล้วค่อยลองให้อาหารชนิดนั้นใหม่ในอีก 3-4 วันต่อมา จนลูกยอมกิน
7. หัดให้ลูกกินอาหารเหลวก่อน เช่น น้ำส้มคั้น น้ำต้มผัก แล้วจึงหัดให้กินอาหารข้นขึ้น เช่น กล้วยน้ำว้าสุกงอมบดผสมกับน้ำต้มสุกเล็กน้อย ข้าวบดผสมน้ำแกงจืด ไข่แดงต้ม ผักบด ปลาบด เป็นต้น อาหารจะค่อยๆข้นขึ้นและหยาบขึ้นตามอายุของลูกนะคะ
8. ให้ลูกกินน้ำต้มสุกบ้าง เพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ต่างๆได้สมบูรณ์ และช่วยในการขับถ่ายของเสีย
9. เมื่อลูกเริ่มมีฟัน ก็ให้กินอาหารสับละเอียด ไม่ต้องบดค่ะ
10. ให้ลูกกินอาหารที่สดใหม่ และทำสุกใหม่ๆ
11. เมื่อลูกไม่ต้องการกิน อย่าบังคับนะคะ พยายามลองให้ลูกกินใหม่วันต่อไป
12. อย่าให้ลูกกินอาหารรสเค็มจัดและหวานจัดค่ะ
จาก BangkokHealth เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 48 เวลา 11:39:00 AM