วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เด็กออทิสติกคือใคร

คำภาษาต่างประเทศคำนี้ สำหรับบุคคลทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย แต่สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิบิดามารดา ผู้ปกครอง ครู นักการศึกษาและนักวิชาชีพ คงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนและลึกซึ้งเพื่อที่จะได้รู้จัก เข้าใจ ธรรมชาติ ลักษณะ บุคลิก จุดเด่น จุดอ่อน และพฤคิกรรมของเด็ก อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือในแนวทางที่ถูกต้อง

คำว่า ออทิสติก หรือ ออทิสซึม (Autism) เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรม หรืออาการที่เกิดขึ้น มาจากภาษากรีก มีรากศัพท์มาจากคำว่า Auto หรือ Self แปลว่า ตัวเอง ทางการแพทย์ถือว่า ออทิซึม เป็นภาวะความผิด ปกติทางพัฒนาการอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งด้านภาษา การสื่อสาร การมีปฏิ สัมพันธ์ทางสังคม และพฤติกรรม โดยจะปรากฏให้เห็นได้ในระยะ 3 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติทางหน้าที่ของระบบประสาทบางส่วน

ดังนั้น ศ.พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงนิยามว่า เด็กออทิสติก คือเด็กที่มีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษา และการสื่อความหมาย พฤติกรรมอารมณ์ และจินตนาการ ซึ่งมีสาเหตุเนื่องมาจากการทำงานในหน้าที่บางส่วนของสมองผิดปกติไป และความผิดปกตินี้จะพบได้ก่อนวัย 30 เดือน

ในทางการศึกษาพิเศษ เด็กออทิสติก จัดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษกลุ่มหนึ่ง กระบวนการในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้กระบวนการหนึ่ง คือ การศึกษา ซึ่งหมายรวมถึง ตั้งแต่การช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม การเตรียมความพร้อม การจัดการศึกษาพิเศษ การเรียนร่วม จนถึงการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ

back



ลักษณะอาการ

The Diagnosis and Statistical Manual, 4th Edition 1994 (DSM IV) ได้อธิบายลักษณะอาการไว้พอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้


ความบกพร่องทางปฏิสัมพันธ์สังคม

เด็กมีความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่มองสบตา ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า กิริยาท่าทาง จึงไม่มีความสามารถที่จะผูกสัมพันธ์กับใคร เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ไม่สนใจที่จะทำงานร่วมกับใคร มักจะอยู่ในโลกของตัวเอง


ความบกพร่องทางการสื่อสาร


เป็นความบกพร่องทั้งด้านการใช้ภาษา ความเข้าใจภาษา การสื่อสาร และสื่อความหมาย ด้านการใช้ภาษา เด็กจะมีความล่าช้าทางภาษาและการพูดในหลายระดับ ตั้งแต่ไม่สามารถพูดสื่อความหมายได้เลย หรือบางคนพูดได้ แต่ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจและเหมาะสม บางคนจะมีลักษณะการพูดแบบเสียงสะท้อน หรือการพูดเลียนแบบ ทวนคำพูด หรือบางคนพูดซ้ำแต่ในเรื่องที่ตนเองสนใจ การใช้ภาษาพูดมักจะสลับสรรพนาม ระดับเสียงที่พูด อาจจะมีความผิดปกติ บางคนพูดเสียงในระดับเดียว


ลักษณะทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่บกพร่อง


เด็กออทิสติกจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ เช่น เล่นมือ โบกมือไปมา หรือหมุนตัวไปรอบๆ ยึดติดไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน มีความสนใจแคบ มีความหมกมุ่นติดสิ่งของบางอย่าง เด็กบางคนแสดงออกทางอารมณ์ไม่เหมาะสมกับวัย บางครั้งร้องไห้ หรือหัวเราะโดยไม่มีเหตุผล บางคนมีปัญหาด้านการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยจะอาละวาด หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ร้องไห้ ดิ้น กรีดร้อง

ความบกพร่องด้านการเลียนแบบและจินตนาการ

บางคนมีความบกพร่องด้านการเลียนแบบ เด็กบางคนต้องมีการกระตุ้นอย่างมาก จึงจะเล่นเลียนแบบได้ เช่น เลียนแบบการเคลื่อนไหว การพูด บางคนไม่สามารถเลียนแบบได้เลยแม้แต่การกระทำง่ายๆ จากากรขาดทักษะการเลียนแบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเล่น ทำให้เด็กขาดทักษะการเล่น
ในด้านจินตนาการ ไม่สามารถแยกเรื่องจริง และเรื่องสมมุติ ประยุกต์วิธีการจากเหตุการณ์หนึ่งไปอีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ยาก เล่นสมมุติไม่เป็น จัดระบบความคิด ลำดับความสำคัญก่อนหลัง การวางแผน การคิดจินตนาการจากภาษาได้ยาก ซึ่งส่งผลต่อการเรียน


ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ทางประสาทสัมผัส

การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การรับรู้ทางสายตา การตอบสนองต่อการฟัง การสัมผัส การรับกลิ่นและรส มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางคนชอบมองวัตถุหรือแสงมากกว่ามองเพื่อน ไม่มองจ้องตาคนอื่น บางคนเอาของมาส่องดูใกล้ๆ ตา บางคนตอบสนองต่อเสียงผิดปกติ เช่น ไม่หันตามเสียงเรียกทั้งที่ได้ยิน บางคนรับเสียงบางเสียงไม่ได้ จะปิดหู ด้านการสัมผัส กลิ่นและรส บางคนมีการตอบสนองที่ไว หรือช้ากว่า หรือแปลกกว่าปกติ เช่น ดมของเล่น หรือเล่นแบบแปลกๆ


ความบกพร่องด้านการใช้อวัยวะต่างๆ อย่างประสานสัมพันธ์


การใช้ส่วนต่างๆ ของร่ากาย รวมถึงการประสานสัมพันธ์ของกลไก กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กมีความบกพร่อง บางคนมีการเคลื่อนไหวที่งุ่มง่ามผิดปกติ ไม่คล่องแคล่ว ท่าทางการเดิน หรือการวิ่งดูแปลก การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การหยิบจับ เช่นช้อนส้อม ไม่ประสานกัน


ลักษณะอื่นๆ

เด็กออทิสติกบางคนจะมีลักษณะพฤติกรรมอยู่ไม่สุขตลอดเวลา ในขณะที่บางคนมีลักษณะเชื่องช้า งุ่มง่าม บางคนแทบไม่มีความรู้สึกตอบสนองต่อความเจ็บปวด เช่น ดึงผม หรือหักเล็กตนเองโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด


อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการข้างต้น เป็นภาพรวมของเด็กออทิสติก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กออทิสติกทุกคนต้องมีลักษณะทั้งหมดนี้ เด็กบางคนอาจมีเพียงบางลักษณะ และระดับความมากน้อยก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

อีกประการหนึ่ง ในเด็กบางคนจะมีลักษณะพิเศษ กิจกรรมบางอย่างทำได้ดีมาก เช่น สามารถบวกเลขในใจจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว บางคนมีทักษะทางเครื่องยนต์กลไก หรือบางคนสามารถเปิดปิดเครื่องเล่นวิดีโอเทปได้ก่อนที่จะพูดได้เสียอีก ทั้งนี้ถือเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล

back

สภาพที่เป็นข้อจำกัดต่อการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก


ข้อจำกัดของเด็กออทิสติกที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ มีหลายประการ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้


ข้อจำกัดด้านภาษาและการสื่อความหมาย
ภาษาประกอบด้วย ความเข้าใจและการพูด การสื่อความหมาย ได้แก่ การแสดงออกด้วยกิริยาท่าทาง เพื่อส่งสารให้ผู้อื่นเข้าใจเจตนาของตน ข้อจำกัดด้านนี้จึงส่งผลที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก


ข้อจำกัดด้านสังคมและอารมณ์
อาทิการปรับตัวเข้ากับกลุ่ม การมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม การควบคุมอารมณ์มารอยู่ร่วม หรือทำกิจกรรมกับกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก


ข้อจำกัดด้านพฤติกรรมและพฤติกรรมซ้ำ
เด็กออทิสติกบางคน มีปัญหาพฤติกรรม เช่น ความสนใจสั้น หรือที่เรียกว่า สมาธิสั้น หรือบางคนมีพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นพฤติกรรมการกระตุ้นตนเอง เช่น เล่นนิ้วมือตลอดเวลา ส่งเสียงอยู่ในลำคอตลอดเวลา ทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้จำกัด


ข้อจำกัดด้านการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส
การตอบสนองหรือการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการรับรู้และเรียนรู้ของเด็ก เช่น การแยกความเหมือนหรือความแตกต่างด้วยสายตา ย่อมส่งผลกระทบต่อการอ่าน


ข้อจำกัดด้านการคิดอย่างมีจินตนาการ

จินตนาการ เป็นการคิดต่อยอดและขยายผล หากเด็กมีข้อจำกัดด้านนี้ การเรียนรู้ย่อมเป็นไปได้ไม่เต็มที่


ข้อจำกัดด้านการเรียนรู้
ในเด็กออทิสติกบางคน ระดับความสามารถในการเรียนรู้ เช่น ทักษะการสังเกต การจับคู่ การจัดลำดับ และอื่นๆ มีความจำกัด ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้เชิงวิชาการ


ข้อจำกัดด้านพัฒนาการทางกายบางด้าน
การไม่ประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมือและตา ความไม่คล่องแคล่วของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหวทางร่างกายที่ดูไม่สมดุล เช่น งุ่มง่าม ทำให้เด็กขาดทักษะการเคลื่อนไหว ทำให้การเรียนรู้บางด้านที่ต้องใช้ทักษะด้านนี้มีความจำกัด เช่น งานการประดิษฐ์ที่มีความละเอียด




back

สาเหตุการเกิด

นปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิดภาวะออทิซึม แต่มีข้อสันนิษฐานว่า มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ การทำงานในหน้าที่ต่างๆ ของสมองไม่สมบูรณ์แบบหลายประการ เช่น ทางชีววิทยา ปัจจัยด้านความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ความผิดปกติของสมองด้านการทำงาน การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ หรือขณะคลอด (ดังแผนภูมิด้านบน)

back



อัตราการเกิด



หากถือการวินิจฉัยตามเกณฑ์ข้อบ่งชี้พฤติกรรมผิดปกติของษมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ครั้งที่ 3 และ 4 (DSM III, IV) จะพบในสัดส่วนประมาณ 4 หรือ 5 คน ในเด็ก 10,000 คน

หากการวินิจฉัยใช้เกณฑ์ "ภาวะออทิสติก สเปคตรัม" หรือรวมกลุ่มแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม จะพบในสัดส่วน 21 ถึง 36 คน ในเด็ก 10,000 คน โดยลักษณะอาการเช่นนี้ ต้องพบก่อนเด็กอายุ 3 ปี และสามารเกิดในเด็กทุกเชื้อชาติ สัญชาติ ฐานะ เพศ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง กล่าวคือในเด็กที่มีอาการออทิสซึ่ม 5 คน จะพบว่าเป็นเด็กผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 1 คน

back



ระดับอาการออทิสติก


ระดับอาการของบุคคลออทิสติก อาจจำแนกระดับอาการกว้างๆ ได้ 3 ระดับ ดังนี้

ระดับกลุ่มที่มีอาการน้อย

เรียกว่า กลุ่ม Mild autism หรือบางครั้งเรียก กลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (high-functioning autism) ซึ่งจะมีระดับสติปัญญาปกติ หรือสูงกว่าปกติ มีพัฒนาการทางภาษาดีกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังมีความบกพร่องในทักษะด้านสังคม การรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลอื่น ในปัจจุบันมีผู้เรียกเด็กกลุ่มนี้อีกชื่อหนึ่งว่า แอสเพอร์เกอร์ - Asperger Syndrome ตามชื่อแพทย์ผู้ค้นพบ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นทางวิชาการ ในการแจวรายละเอียดของปัญหาเพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่ชัดเจนขึ้น แต่โดยสภาพพื้นฐานความต้องการจำเป็นทั้งกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง กับกลุ่ม แอสเพอร์เกอร์ ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก


ระดับกลุ่มที่มีอาการปานกลาง
เรียกว่า กลุ่ม Moderate autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในพัฒนาการด้านภาษาการสื่อสาร ทักษะสังคม การเรียนรู้ รวมทั้งด้านการช่วยเหลือตนเอง และมีปัญหาพฤติกรรมกระตุ้นตนเองพอสมควร


ระดับกลุ่มที่มีอาการรุนแรง
เรียกว่ากลุ่ม Severe autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในพัฒนาการเกือบทุกด้าน และอาจเกิดร่วมกับภาวะอื่น เช่น ปัญญาอ่อนรวมทั้งมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง




back

วิธีสังเกตเด็กออทิสติก


การสังเกตว่าเด็กคนใด มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่า เป็นเด็กที่มีภาวะออทิสติกหรือไม่ เครื่องมือใช้ตรวจสอบ คือ แบบสังเกตพฤติกรรม

เมื่อผู้ปกครอง พาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะดำเนินกระบวนตามสภาพความต้องการของเด็กแต่ละคน ซึ่งพอประมวลสรุปขั้นตอนได้ ดังนี้

แพทย์ซักถาม สัมภาษณ์ บิดามารดา หรือผู้ดูแล ถึงพฤติกรรมต่างๆ
ส่งตรวจสอบการได้ยิน เพื่อทดสอบระบบการได้ยิน
ส่งตรวจสอบทางการแพทย์อื่น ตามความจำเป็นและเหมาะสม
วินิจฉัยเพื่อการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือ
ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู รวมทั้งกำหนดโปรแกรม
ให้ยา ตามความจำเป็นของพฤติกรรม


ในฐานะของครูหรือบิดามารดา ผู้ปกครอง อาจตรวจสอบพฤติกรรมเบื้องต้นของเด็กในความดูแลด้วยตนเองได้ และนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกตไปขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษาเพิ่มเติม

บทความนี้นำเสนอแบบตรวจสอบง่ายๆ ในลักษณะการตรวจรายการพฤติกรรม ซึ่งพัฒนาจากแบบสังเกตของ

1 Dr. Je. Gillaim "Autism Rating Scale" 1989
2 Dr. Rendle Shot Bisbane Children's Hospital, University of Queensland, Australia, 1997

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่า การวินิจฉัยภาวะออทิซึม จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัย

แบบตรวจสอบที่นำเสนอ เพื่อช่วยให้ครูหรือบิดามารดา สามารถสังเกตพฤติกรรมที่น่าสงสัยของเด็กเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือระยะเริ่มแรกได้ โดยเครื่องมือนี้เน้นการสังเกตพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง

back



แบบตรวจสอบพฤติกรรมเด็กออทิสติก
คำชี้แจง



สังเกตพฤติกรรมแล้วบันทึกลงในช่องที่พบ โยพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ โดยใส่เครื่องหมาย a(ถูก) เมื่อพบ และใส่เครื่องหมาย X (ผิด)เมื่อไม่พบ
การรวมคะแนน หากคะแนนที่พบเกิน 12 คะแนน มีแนวโน้มน่าสงสัย
แบบตรวจสอบพฤติกรรมนี้ ใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือระยะเริ่มแรกเท่านั้น ไม่ใช่การวินิจฉัย


ชื่อผู้รับการสังเกต …………………………………………….

ชื่อผู้สังเกต …………………………………………………

วันที่สังเกต ………………………………………………..

รายการ


ก. พฤติกรรมทางสังคม


ไม่มองสบตา
ไม่ชอบการโอบกอด
ไม่เลียนแบบการเล่นของเด็กอื่น
มองผ่านหรือมองคนอื่นเหมือนไม่รับรู้ว่ามีคนอยู่ตรงนั้น
แยกตัวออกจากกลุ่ม
ยึดมั่นเรื่องที่สนใจเรื่องเดียว
รู้สึกวิตกกังวลเมื่อเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ
เรียงลำดับวัตถุในแบบเดิมๆ หากมีการเคลื่อนย้ายจะไม่พอใจ
หัวเราะหรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
ซนผิดปกติหรือนั่งนิ่งผิดปกติ
ชอบเล่นหมุนวัตถุ ปั่นวัตถุ

ข. การสื่อความหมาย


ไม่สามารถพูดออกเสียงเป็นคำที่มีความหมาย
ใช้ท่าทางแทนที่จะใช้คำพูดเมื่อต้องการสิ่งใด
พูดเลียนเสียงผู้พูด ทวนคำหรือวลี
พูดคำซ้ำต่างๆ จากหนังสือหือสิ่งที่เคยได้ยินมา เช่นพูดตามโฆษณาทีวี ไม่
ไม่สามารถเริ่มต้นบทสนทนากับเพื่อหรือผู้ใหญ่ได้
ไม่ตอบสนองเสียงเรียก ทำคล้ายไม่ได้ยิน

ค. พฤติกรรมการกระตุ้นตนเอง


มีพฤติกรรมซ้ำๆ
สะบัดนิ้วมือหรือเล่นมือประจำ
จ้องมองมือหรือวัตถุสิ่งของที่อยู่รอบตัวครั้งละ 5 วินาที หรือนานกว่านั้น
หมุนตัว นั่ง หรือโยกตัวไปมาเป็นวงกลม
นั่งหรือยืนโยกหน้า โยกหลัง
เดินเขย่งปลายเท้า
วิ่งถลาหรือพุ่งตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง


รวมคะแนน ข้อที่พบ …………… คะแนน

รวมคะแนน ข้อที่ไม่พบ ………… คะแนน

แนวทางช่วยเหลือ / การให้คำปรึกษา

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………


ลงชื่อ ………………………ผู้บันทึกข้อมูล

(วันที่ที่บันทึก…………)

พบ ไม่พบ

หมายเหตุ พัฒนาจากแบบสังเกตของ

1 Dr. Je. Gillaim "Autism Rating Scale" 1989
2 Dr. Rendle Shot Bisbane Children's Hospital, University of Queensland, Australia, 1997

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ 2542

back

ที่มาข้อมูล: ตัดทอนบางส่วนจาก "การเรียนรู้ของเด็กออทิสติก" โดยชูศักดิ์ จันทยานนท์* เอกสารประชาสัมพันธ์ ลำดับที่ 06/2542 โรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ 140/47 แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพหานคร โทร 0-2411-2899

*นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และผู้อำนวยการโรงเรียนจันทยานนท์

ข้อมูลเพิ่มเติม:
การสมัครสมาชิกสมาคมฯ เขียนชื่อ ที่อยู่ ให้ชัดเจน ส่งมาที่


สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย)
140/47 แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพหานคร 10700
โทร 0-2411-2899 โทรสาร 0-2866-5729

ไม่มีความคิดเห็น: