วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เมื่อลูกไม่ดูดนมแม่ (new)



อันนี้สำหรับกรณีของลูกแรกคลอดนะคะ เมื่อลูกไม่ยอมดูดนมจากเต้านั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะท่าทางการดูดไม่ถูกต้อง ทำให้ดูดแล้วไม่ได้น้ำนม เมื่อไม่ได้น้ำนม ลูกก็จะหงุดหงิดและปฏิเสธเต้าแม่ ซึ่งทำให้ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าไม่มีน้ำนม เวลาที่ลูกดูดไม่ถูกต้อง เค้าจะไม่ได้น้ำนมค่ะ ทั้งๆ ที่แม่มีนมอยู่เต็มเต้า แต่ลูกดูดไม่ออก เพราะฉะนั้นต้องแก้ด้วยการดูดให้ถูกวิธี ไม่ใช่แก้ด้วยการเสริมนมขวดนะคะ การสอนให้ลูกดูดนมให้ถูกต้องควรจะเป็นสิ่งที่โรงพยาบาล "ต้อง" ฝึกให้แม่ทุกคนทำได้ก่อนจะให้กลับบ้านเลยนะคะ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีน้อยเหลือเกินที่จะให้ความใส่ใจกันในเรื่องนี้ อย่าบ่นเลยดีกว่า เอาเป็นว่า คุณแม่ท่านใดที่มีปัญหาเรื่องลูกไม่ยอมดูดจากเต้า ก็ลองดูได้นะคะ ว่าลูกเราดูดได้ถูกต้องหรือเปล่า

เนื่องจากไฟล์แต่ละอันขนาดใหญ่มาก หลาย MB ถ้าจะ download ได้ คงต้องเป็น Hi-Speed นะคะ ตาม link ข้างล่างนี้ไปเลยค่ะ เริ่มจาก First Latch ก่อนเลยนะคะ

Dr. Jack's VDO Clips



อย่าลืมอ่านบทความเรื่อง "สัมผัสรักระหว่างแม่ลูก" ประกอบด้วยค่ะ

เพิ่มเติมบทความของ Dr.Jack เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแม่ต่ายกรุณาสละเวลาแปลให้ค่ะ

ทำไมทารกถึงปฏิเสธที่จะดูดนม

มีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้ทารกไม่ยอมดูดนม ส่วนใหญ่แล้วการที่ทารกไม่ยอมดูดนม มักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุมากกว่าหนึ่งอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทารกที่มี พังผืดใต้ลิ้น อาจจะยอมดูดนมแม่แต่โดยดีหากไม่มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากทารกได้รับนมขวดตั้งแต่หลังคลอดใหม่ ๆ นมแม่สำหรับเขาแล้วก็อาจจะกลายสภาพจากอะไรที่ "ดีพอใช้" เป็น "ใช้ไม่ได้เลย" ไปได้

ถ้าหัวนมแม่ใหญ่มาก มีลักษณะบุ๋ม หรือบอด จะทำให้การดูดนมทำได้ยากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย

ทารกบางคนไม่เต็มใจที่จะดูดนม หรือดูดนมได้ไม่ดีเนื่องจากได้รับผลกระทบจากยาที่ได้รับระหว่างการคลอด ในหลายกรณีมีสาเหตุมาจากยาระงับความเจ็บปวด โดยเฉพาะยาแก้ปวด Meperidine (Demerol) ซึ่งจะตกค้างในกระแสเลือดของทารกเป็นเวลานาน และมีผลต่อการดูดนมของทารกอยู่เป็นเวลาหลายวัน แม้แต่มอร์ฟีนที่ให้ในการบล็อคหลังก็อาจมีผลให้ทารกไม่ยอมดูดนมได้ เพราะยาที่ให้ในการบล็อคหลังจะเข้าไปในกระแสเลือดของแม่ และผ่านไปยังทารกก่อนที่จะคลอดออกมา

การใช้เครื่องมือดูดทารกออกมาในการคลอดก็อาจมีผลให้ทารกดูดนมได้ไม่ดี หรือไม่อยากดูดนมได้ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้เครื่องดูดนี้ในกรณีที่ทารกคลอดครบกำหนดและแข็งแรงดี

ความผิดปกติของปากก็อาจเป็นสาเหตุให้ทารกไม่ยอมดูดนม การมีเพดานปากโหว่ ไม่ใช่อาการปากแหว่ง เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกดูดนมได้อย่างยากลำบาก ซึ่งบางครั้งอาการเพดานปากโหว่ก็สังเกตเห็นได้ยาก เพราะเกิดขึ้นกับส่วนที่อยู่ภายในปากของทารก

พังผืดใต้ลิ้น (เนื้อเยื่อสีขาวที่อยู่ใต้ลิ้น) อาจมีผลให้ทารกดูดนมได้ยาก พังผืดนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ หมอจำนวนมากจึงไม่เชื่อว่ามันกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันมีผล ทารกเรียนรู้การดูดนมแม่ด้วยการดูดจริง หัวนมที่ทำเทียมขึ้นจึงมีส่วนขัดขวางการดูดนมจากเต้าของทารก ถ้าน้ำนมที่ได้รับจากเต้านมแม่ไหลช้า (ดังที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามวันแรกหลังการคลอด) ในขณะที่นมที่ได้จากขวดไหลเร็ว ทารกจำนวนมากจะเรียนรู้ความแตกต่างนี้ได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ทารกปฏิเสธการดูดนมมาจากความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า ทารกในช่วงสองสามวันแรกของชีวิตจะต้องดูดนมแม่ทุก 3 ชั่วโมง หรือกี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ตามตารางเวลาที่กำหนด เมื่อทารกไม่ดูดนมตามเวลาที่กำหนด เช่น สามชั่วโมงภายหลังการคลอด จึงมักก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้น และบ่อยครั้งที่มีการบังคับให้ทารกดูดนมทั้งที่ยังไม่พร้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อถูกบังคับให้ดูดนมแม่เมื่อยังไม่ต้องการหรือยังไม่พร้อม ทารกบางคนจะเกิดอาการเกลียดเต้านมไปเลย ถ้าความเชื่อผิด ๆ อันนี้ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นว่า "ทารกต้องได้รับอาหาร" ก็อาจมีความพยายามใช้วิธีอื่นในการป้อนทารก (ที่แย่ที่สุดก็คือการใช้ขวดนม) ส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง และเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ในที่สุด

ไม่มีหลักฐานอะไรบ่งชี้ว่าทารกคลอดครบกำหนดที่แข็งแรงจะต้องได้รับอาหารทุก ๆ สามชั่วโมงในช่วงสองถึงสามวันแรกหลังคลอด และก็ไม่มีข้อพิสูจน์อะไรว่าทารกจะมีระดับน้ำตาลต่ำหากไม่ได้รับอาหารทุกสามชั่วโมง (ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเรื่องของความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในการดูแลเด็กแรกเกิด ทั้ง ๆ มันมีที่มาจากความเป็นจริงเพียงแค่บางส่วน และบางครั้งกลับนำไปสู่ปัญหามากกว่าป้องกันปัญหา ซึ่งรวมไปถึงปัญหาที่ทารกจำนวนมากได้รับนมผสมโดยไม่จำเป็น ถูกแยกจากแม่โดยไม่มีเหตุผลสมควร และไม่ยอมดูดนม

ทารกควรได้อยู่กับแม่ ได้รับการกอดให้ผิวของทารกแนบสัมผัสกับผิวของแม่โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน การให้ทารกได้อยู่กับแม่โดยผิวหนังแนบสัมผัสกันโดยตรงทันทีหลังจากคลอดออกมา จะช่วยให้ทารกและแม่มีเวลาในการ "ค้นพบ" กันและกัน และป้องกันปัญหาทารกไม่ยอมดูดนมได้เป็นส่วนใหญ่ การให้ผิวหนังของทารกสัมผัสกับผิวของแม่ยังช่วยให้ร่างกายของทารกได้รับความอบอุ่นเหมือนกับการอยู่ภายใต้โคมไฟให้ความร้อนอีกด้วย

การให้ทารกได้อยู่กับแม่เป็นเวลา 5 นาทีไม่ใช่ทางออกของปัญหา ทารกและแม่ควรได้อยู่ด้วยกันจนกว่าทารกจะดูดนมเอง ไม่มีความกดดันใด ๆ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ("เราต้องชั่งน้ำหนักเด็ก" "เราต้องให้วิตะมินเคกับเด็ก" หรือขั้นตอนอื่น ๆ เรื่องพวกนี้สามารถรอได้) ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น

แต่ทารกก็ยังไม่ยอมดูดนม

เอาล่ะ ทีนี้มาถึงคำถามที่ว่าเราควรจะรอกันนานแค่ไหน คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัว ถ้าทารกยังไม่แสดงทีท่าว่าอยากจะดูดนมภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังคลอด แน่นอนว่าก็น่าจะมีการลองทำอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่านโยบายของโรงพยาบาลมักจะให้แม่กลับบ้านได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง


แล้วมีอะไรบ้างล่ะที่พอจะทำได้

แม่ควรเริ่มบีบน้ำนมของตัวเอง และนำน้ำนมเหลือง (colostrum) ที่บีบได้ จะเป็นนมอย่างเดียวหรือผสมกับน้ำผสมน้ำตาลก็ได้ ป้อนให้แก่ทารก ถ้าให้ดีควรป้อนโดยใช้เทคนิค Finger Feeding (การป้อนโดยใช้นิ้วร่วมกับอุปกรณ์ที่เรียกว่า Lactation Aid หมายเหตุ : มีผู้ผลิตอุปกรณ์ Finger Feeding ขายอยู่เหมือนกันค่ะ แต่สำหรับการใช้ระยะสั้นแบบนี้ ใช้ช้อนป้อนก็น่าจะพอแทนได้)
ถ้ายังบีบน้ำนมเหลืองไม่ค่อยออก (ส่วนใหญ่การใช้มือบีบจะดีกว่าปั๊มในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด) จะใช้น้ำผสมน้ำตาลอย่างเดียวไปก่อนในช่วงสองสามวันแรกก็ได้ ทารกส่วนใหญ่จะเริ่มดูด และหลายคนจะตื่นตัวมากพอที่จะพยายามไปหาเต้านมแม่

ทันทีที่ทารกเริ่มดูดได้ดี ให้หยุดป้อนโดย Finger Feeding และให้ทารกลองดูดนมจากเต้า Finger Feeding เป็นขั้นตอนที่ช่วยเตรียมทารกให้ดูดนมจากเต้า ไม่ใช่วิธีที่มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงการให้นมขวด ถึงแม้ว่ามันจะช่วยขจัดความจำเป็นในการให้นมขวดไปด้วยในตัวก็ตาม ดังนั้น จึงเป็นเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ก่อนการพยายามให้ทารกดูดนมจากเต้า เพื่อช่วยในการเตรียมทารกให้พร้อมก่อนการดูดนมแม่ ดู handout #8 Finger Feeding (ยังไม่ได้แปล)
ก่อนที่แม่และทารกจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ควรจัดให้แม่และลูกได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างช้าที่สุดไม่เกินภายในวันที่สี่หรือห้าหลังการคลอด ทารกจำนวนมากที่ไม่สามารถดูดนมได้ในช่วงสองถึงสามวันแรกจะสามารถดูดนมได้อย่างดีเมื่อน้ำนมแม่มามากขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประมาณวันที่สามหรือสี่หลังคลอด การจัดให้มีการให้ความช่วยเหลือในช่วงระหว่างนี้จะช่วยป้องกันความผิดพลาดในการดูดนมของทารกที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป
การใช้ Nipple Shield (แผ่นซิลิโคนป้องกันหัวนมแตก หรือใช้ติดเพื่อช่วยสำหรับผู้ที่มีหัวนมบอด) ก่อนที่น้ำนมแม่จะมามาก (วันที่ 4 ถึง 5) เป็นการกระทำที่ผิด การเริ่มใช้ Nipple Shield ก่อนที่น้ำนมจะมาเป็นการไม่ให้โอกาสได้ทดลองดูว่ามันจำเป็นหรือไม่ นอกจากนี้ หากใช้โดยไม่เหมาะสม (ดังที่ผู้เขียนพบอยู่เป็นประจำ) สามารถทำให้น้ำนมแห้งไปได้อย่างน่าตกใจ

ดิฉันกลับจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้านแล้ว ลูกไม่ยอมดูดนม ดิฉันจะทำอย่างไรดี

ปัจจัยสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลให้ทารกยอมดูดนมหรือไม่ก็คือ แม่ต้องมีน้ำนมมากเพียงพอ หากแม่มีน้ำนมมากมายเหลือเฟือ ไม่ว่าจะอย่างไรทารกจะยอมดูดนมเองในช่วงอายุ 4-8 สัปดาห์ สิ่งที่พวกเราที่คลีนิคให้คำปรึกษาพยายามจะทำก็คือ การช่วยให้ทารกดูดนมเร็วขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องรอเป็นเวลานานขนาดนั้น

ดังนั้น การพยายามให้แม่มีน้ำนมมากพอมีความสำคัญกว่าการหลีกเลี่ยงขวดนม ขวดนมมีส่วนขัดขวางการดูดนมแม่ และหากสามารถใช้วิธีอื่น (เช่นป้อนจากถ้วย) ก็จะดีกว่า แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่มีทางเลือก คุณก็ควรจะทำ
ศึกษาท่าทางการให้นมที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงที่มีประสบการณ์ เมื่อทารกเริ่มดูดนม ให้บีบเต้านมเพื่อให้น้ำนมพุ่งเขปาก. และลองให้ดูดจากเต้าที่เขาชอบหรือจากเต้าที่มีน้ำนมมากกว่าก่อน ไม่ควรเริ่มจากเต้าที่ทารกแสดงอาการต่อต้าน

ถ้าทารกยอมอ้าปากอมหัวนม เขาจะเริ่มดูดและกลืนนม

หากทารกไม่ยอมดูดนม อย่าบังคับ นั่นไม่ใช่วิธีที่ได้ผล (ดูเพิ่มเติม ลูกได้นมพอหรือไม่) ทารกอาจจะหัวเสียหรือไม่ก็แสดงอาการหมดเรี่ยวแรงไปเลย อุ้มเขาออกจากอกและเริ่มต้นใหม่ การอุ้มทารกเข้า-ออก เข้า-ออกจากอกหลาย ๆ ครั้งจะดีกว่าการบังคับให้เขาอยู่กับอกเมื่อเขาไม่ยอมดูดนม หากทารกยอมเข้าหาเต้านมแม่และดูดเพียงคำหรือสองคำ นั่นก็คือเขาไม่ยอมดูดนม

ถ้าทารกปฏิเสธเต้านม อย่ายืนกรานให้ดูดให้ได้จนเขาโกรธ ลองใช้เทคนิค Finger Feeding เป็นเวลาตั้งแต่สองสามวินาทีจนถึงหนึ่งหรือสองนาทีแล้วเริ่มต้นใหม่ โดยอาจลองเปลี่ยนไปให้จากเต้าอีกข้างดู เราใช้ Finger Feeding เพื่อเตรียมทารกให้ดูดนมจากเต้า ไม่ใช่เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ขวด ถ้าทารกยังคงไม่ยอมดูดนม ท้ายที่สุดแล้วให้จบมื้อนั้นโดยการป้อนด้วยวิธีอะไรก็ได้ที่ง่ายที่สุดสำหรับคุณ

การใช้ Lactation Aid ในขณะที่ทารกดูดนมจากเต้าอาจจะช่วยได้ แต่มักจะจำเป็นต้องใช้มือเพิ่มมาอีกข้างสำหรับอุปกรณ์ หลังจากคลอดประมาณสองสัปดาห์ สิ่งที่คุณทำในช่วงที่ผ่านมามักจะทำให้ทารกรับรู้ได้แล้วว่า "เรื่องแบบนี้มีวิธีทำได้หลายวิธี ถ้าคุณเคยป้อนโดยวิธี Finger Feeding เพียงอย่างเดียว ในบางกรณีการเปลี่ยนไปป้อนด้วยแก้วหรือขวดอาจจะได้ผล หรือบ่อยครั้งที่การใช้ Nipple Shield จะใช้ได้ผล ถ้าคุณเคยป้อนด้วยขวดเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนไปป้อนโดย Finger Feeding ก็อาจจะได้ผล (การพยายามป้อนนมจากเต้าก็ใช้ได้หากการใช้ Finger Feeding ช้าเกินไป และจบมื้อนั้นโดยการป้อนด้วยแก้วหรือขวด)

จะรักษาและเพิ่มปริมาณน้ำนมได้อย่างไร

บีบนมออกให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยที่สุดวันละ 8 ครั้ง ใช้ปั๊มคุณภาพดีปั๊มทีเดียวพร้อมกันทั้งสองข้าง การบีบเต้านมระหว่างปั๊มจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปั๊มและช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม (อาจต้องใช้มือเพิ่มอีกข้างหนึ่ง แต่แม่อาจตั้งปั๊มให้ไม่ต้องใช้มือถืออุปกรณ์ระหว่างการปั๊มเพื่อจะได้ใช้มือที่ว่างอยู่บีบเต้านมได้). ถ้าทารกไม่ยอมดูดนมภายในวันที่ 4 หรือ 5 ให้รับประทาน Fenugreek และ Blessed Thistle เพื่อเพิ่มน้ำนม การใช้ยา Domperidone ก็อาจช่วยได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ Nipple Shield อย่าเพิ่งเริ่มใช้อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีปริมาณน้ำนมมากพอแล้ว (อย่างน้อยที่สุดก็ 2 สัปดาห์หลังคลอด) และควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก่อน

อย่าเพิ่งท้อ ถึงแม้ว่าจะมีน้ำนมไม่มากพอทั้งหมดเท่าที่ทารกต้องการ ทารกส่วนมากก็ยังยอมดูดนมแม่อยู่ดี ให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าพยายามแก้ไขด้วยตัวเองคนเดียว

--------------------------------------------------------------------------------

แปลจาก Handout #26. When The Baby Refuses to Latch On. January 2005 Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005 โดย แม่ต่าย

บทความนี้ แม่ต่าย อาสาแปลให้โดยมิได้ร้องขอ หากคุณผู้อ่านทุกท่านอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ขอความกรุณาส่งคำขอบคุณสั้นๆ ให้ผู้แปลบ้าง เราเชื่อว่าน่าจะเป็นการตอบแทนซึ่งทำให้ผู้รับอิ่มใจไม่น้อยค่ะ

FINANCE

ไม่มีความคิดเห็น: